ชีวิตเป็นสิ่งที่มีสีสัน สดชื่น เบิกบาน เบาสบาย สั่นไหว เลื่อนไหล... แล้วเราได้ก้าวเข้าไปในมิติดังกล่าวแล้วหรือยัง? หรือว่าเรายังซังกะตายใช้ชีวิตให้หมดไปวันๆ
ชีวิตของเรายังคงหนักอึ้ง ยากที่จะเข้าใจ เป็นอะไรที่ควบคุมไม่ได้ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย มีความไม่สบายกายไม่สบายใจเกิดขึ้นตลอดเวลา
ในหัวเต็มไปด้วยความคิดที่สับสน ขัดแย้ง และบางครั้งก็เกิดเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรง บางครั้งก็หดหู่ เหี่ยวแห้ง ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง รู้สึกหมดอาลัยตายอยาก ซึมเศร้า เสียใจเมื่อสิ่งที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา
หลายครั้งรู้สึกหมดหวัง ไร้พลัง สับสน วุ่นวาย ไม่เข้าใจเพราะมองไม่เห็น "ภาพใหญ่" ที่ทำให้ผลออกมาเป็นเช่นนั้น มองไม่เห็นว่าแท้จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างต่างเกิดจาก "เหตุปัจจัย" ที่เราทำได้ก็แค่สร้างเหตุปัจจัยบางอย่างเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็จะเลื่อนไหลและเป็นไปตามกฎอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ
บางท่านเรียกสิ่งนั้นว่า "ธรรมะจัดสรร"
บางท่านบอกว่าเป็น "พระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้า"
บางท่านพูดว่าเป็นเพราะ "เต๋า" หรืออะไรต่อมิอะไร ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล
ปิดสวิตช์ความคิด... ไม่ง่ายอย่างที่คิด
ผมเองจัดว่าเป็นพวกที่ชอบ "ใช้ความคิด" จะเรียกว่า "เสพติดการคิด" ก็น่าจะได้ ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องคิดวางแผนไว้อย่างรอบคอบ
มาระยะหลังๆ เพิ่งเห็นกระจ่างว่า มีหลายครั้งหลายคราที่รู้สึกว่าการคิดที่เกิดขึ้นมากมายนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลย
ด้วยเหตุนี้ผมจึงใช้คำว่า "เสพติดการคิด" คือคิดจนติดเป็นนิสัย ไม่คิดไม่ได้ รู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างหายไป คิดไปเองโดยอัตโนมัติ คิดไปโดยไม่รู้ตัว ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าความคิดกลายเป็น "นายของชีวิต"
ลืมไปว่าแท้จริงแล้วการคิดเป็น "เครื่องมือ" อย่างหนึ่งของชีวิต เมื่อถึงคราวจำเป็นที่จะต้องคิด ก็เปิดสวิตช์ให้มันทำงาน เมื่อไม่ต้องการจะใช้เครื่องมือตัวนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องไปคิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า เราไม่สามารถปิดสวิตช์ความคิดของเราได้ ความคิดได้กลายเป็นนาย กลายเป็น "เจ้าชีวิต" ของเราไปแล้ว
เคยสังเกตบางไหมว่าหลายครั้งที่เราทุกข์ใจนั้นเป็นผลมาจากสิ่งที่อยู่ในความคิดของเรา... ทำไมเขาจึงพูดเช่นนั้นกับเรา? เขาช่างไม่เข้าใจเราเลย! อะไรทำให้เขาเปลี่ยนไป? เขาไม่มีใจ ไม่มีเยื่อใยกับเราแล้วใช่ไหม? และอะไรต่อมิอะไรต่างๆ นานา จนกลายเป็นว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ในความคิดของเรานั่นเอง เหมือนกับที่ครูบาอาจารย์ได้เคยพูดเตือนสติไว้ว่า "ทุกข์เพราะคิดผิด" คือถ้าไม่ระวังให้ดี ความคิดจะเข้ามาบงการชีวิตเรา จะทำให้สุขหรือทุกข์ก็ได้
หากเป็นเช่นนั้นแสดงว่าความคิดได้กลายมาเป็นนายเราไปแล้ว ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ชีวิตต่างหากที่เป็นนาย ความคิดเป็นได้แค่เครื่องมือที่นำมาใช้งานเท่านั้น
การรับรู้คือต้นทางของความคิด
คำถามที่ตามมาก็คือ ความคิดเหล่านี้มาจากไหน? อะไรเป็น "ต้นตอ" ของความคิด? ความคิดเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ผมเองสนใจในประเด็นดังกล่าว จึงได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการคิดจนสามารถปะติดปะต่อได้ว่า การคิดเป็นผลผลิตที่สืบเนื่องมาจากการรับรู้
สำหรับประตูหรือช่องทางที่สร้างการรับรู้ก็มีอยู่ 5 ประตูใหญ่ๆ (5 ทวาร) ด้วยกันคือ
1.ทางตา 2.ทางหู 3.ทางจมูก 4.ทางลิ้น 5.ทางกาย
ส่วนทางใจนั้นผมจะขอละไว้ก่อน เพราะวิทยาศาสตร์ยังอยู่ในขั้นที่ต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นจริง ยังไม่ยอมรับอย่างเต็มตัว ทั้งๆ ที่ตอนนี้ก็มีความก้าวหน้าในการวิจัยไปมากทีเดียว
ผมเชื่อว่าอีกไม่นานโลกตะวันตกก็จะเห็นพ้องกับโลกตะวันออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ทางพุทธพูดไว้ว่าเราสามารถรับรู้ผ่านได้ 6 ช่องทางด้วยกัน ซึ่งนั่นก็หมายถึงการรับรู้ที่ผ่านมาทางใจด้วยเช่นกัน
แล้วอะไรล่ะที่ผ่านมาทาง 5 ช่องทางข้างต้น สิ่งเหล่านั้น ก็ได้แก่
1.รูป 2.เสียง 3.กลิ่น 4.รส และ 5.สัมผัส ในภาษาพระท่านเรียกช่องทางที่อยู่ในตัวเราว่า "อายตนะภายใน" และเรียกคู่ของมันที่อยู่ภายนอกว่า "อายตนะภายนอก"
ไม่ต้องบอกท่านก็คงทราบดีว่าการรับรู้เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องอาศัยทั้งอายตนะภายนอกและอายตนะภายในมากระทบกัน
สิ่งที่สำคัญและน่าสนใจก็คือรูปหรือภาพๆ เดียวกัน เสียงๆ เดียวกัน หรือกลิ่นๆ เดียวกัน แต่พอมาผ่านช่องทางการรับรู้ (ทวาร) ของแต่ละคน ปรากฏว่าการรับรู้ที่ออกมากลับไม่เหมือนกัน ภาพเดียวกัน คนนี้เห็นแล้วชอบ อีกคนหนึ่งบอกว่าน่าเกลียดไม่ชอบ
เสียงที่ได้รับฟังเสียงเดียวกัน บางคนตีความออกมาว่าเป็นเช่นนั้น บางคนบอกว่าเป็นเช่นนี้ เข้าใจกันไปคนละทาง
เมื่อการรับรู้นั้นแตกต่าง ความคิดที่ตามมาก็ย่อมจะแตกต่างไปด้วยเช่นกัน
ทำไมการรับรู้ สิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งเดียวกัน จึงรับรู้ไม่เหมือนกัน หากจะตอบสั้นๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะ "การตีความ" การตีความจำเป็นต้องอาศัยข้อมูล ประสบการณ์ที่แต่ละคนสั่งสมไว้
ในเมื่อประสบการณ์และข้อมูลที่แต่ละคนมีนั้นต่างกัน การตีความก็ให้คุณค่าความหมายที่ต่างกันไป บางคนรับรู้แล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม บางคนรับรู้แล้วมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ผิดอะไร เห็นไหมว่าเรื่องเดียวกันแท้ๆ แต่พอตีความแล้ว
การรับรู้ของคนหนึ่งบอกว่าให้เดินไปทางขวา ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าต้องเดินไปทางซ้าย เห็นไหมว่าความคิดนั้นแตกต่างกันได้ ทั้งๆ ที่สิ่งที่เข้ามาสู่การรับรู้นั้นเป็นสิ่งเดียวกัน และนี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทยในขณะนี้ เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิด ความคิดที่เกิดจากการตีความการให้คุณค่าให้ความหมายที่ไม่ตรงกัน
การตีความที่ขึ้นอยู่กับอคติของคนแต่ละคน ยิ่งมีการสังกัดว่าอยู่ฝ่ายไหน การรับรู้และความคิดก็ยิ่งจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน จนเกิดเป็นประเด็นขัดแย้งที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ความคิด อิสรภาพ ความรัก และการให้
ท่าน ว. วชิรเมธี พระนักคิดนักเขียนได้เคยกล่าวเตือนสติไว้ว่า อย่าทึกทักเอาความคิดมาเป็นความจริง ท่านใช้คำว่า "อย่าผูกขาดความคิด" การที่เราผูกขาดความคิด และเข้าใจผิดคิดว่าความคิดของเราเป็นความจริง จะทำให้เรามีใจที่คับแคบ ไม่เปิดใจรับฟังผู้อื่น และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ชีวิตไม่เลื่อนไหล
ความเลื่อนไหลจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราเปิดใจ ปล่อยวางอคติทั้งหลายที่เรามีอยู่ในใจ และการที่เราจะทำเช่นนั้นได้ เราจะต้องมีขีดความสามารถในการ "ให้อภัย" เราจะต้องเป็นคน "ใจใหญ่" ที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา
ผมเคยถามผู้รู้ว่า "ถ้าผมขาดเมตตา ไม่สามารถให้อภัยใครได้ ผมควรจะฝึกตนอย่างไรจึงจะสร้างเมตตาให้มากขึ้นมาได้?" ซึ่งท่านก็ได้ให้กำลังใจด้วยคำตอบที่ว่า "ความรัก ความเมตตา ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้" ในตัวคนทุกคนนั้นมีสิ่งนี้อยู่แล้ว
ความรักไม่ใช่สิ่งที่ใครจะสร้างขึ้นมาใหม่ได้ มันอยู่ในเนื้อในตัวของเราอยู่แล้ว คนทุกคนมีสิ่งนี้อยู่แล้ว แต่ที่เรารู้สึกว่าเราขาด เราไม่มี อาจเป็นเพราะมีอะไรไปขวางกั้นมันไว้ ปิดทางไม่ให้มันไหลออกมา เพียงแค่เราหาสิ่งที่ปิดกั้นนี้เจอ แล้วนำมันออกไป ความรักที่อยู่ภายในก็จะหลั่งไหลออกมาเอง
นอกจากนั้นท่านยังได้ให้คำแนะนำด้วยว่า "รักแท้คือการให้" แต่ต้องเป็นการให้ที่ไม่มีการกำหนดเงื่อนไข ต้องไม่ใช่การให้ที่มาพร้อมเงื่อนไขแบบที่ใช้ในการเจรจาต่อรองทางธุรกิจ
รักแท้จะต้องมีพื้นฐานอยู่ที่การไม่คาดหวังในสิ่งใด รักแท้ต้องมาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า "อิสรภาพ" เป็นความรักที่ปราศจากการแทรกแซงใดๆ ยอมรับผู้อื่นได้ตามที่เขาเป็น
บนเส้นทางของเมตตา (เติมรัก)
การเห็นคนทุกคนในฐานะเป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เรามีความรักความเมตตาเพิ่มขึ้น สิ่งที่ผมใช้ (ฝึกตนเองในระยะนี้) คือการมองให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว คนทุกคนนั้นไม่ได้แตกต่างกันเลย เราทุกคนล้วนแต่ต้องเผชิญกับความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครก้าวข้ามสิ่งนี้ไปได้ ไม่ทุกข์กายก็ทุกข์ใจ มากบ้างน้อยบ้าง หนักบ้างเบาบ้าง ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
ความทุกข์กายส่วนใหญ่ถ้าไม่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ไม่มีใครจะหนีพ้นสิ่งเหล่านี้ไปได้ ไม่ว่าเราจะดูแลรักษาร่างกายของเราได้ดีเพียงใด แต่เมื่อถึงวันหนึ่งความเสื่อมโทรมก็เข้ามาเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่สามารถจะหนีจากความชราและการป่วยไข้ไปได้
ส่วนความทุกข์ที่เกิดขึ้นทางใจก็เช่นกัน คนทุกคนล้วนแต่ต้องประสบกับความทุกข์นั้น มากบ้างน้อยบ้าง จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ที่เห็นแน่ๆ ก็คือความทุกข์ใจที่เกิดจากการต้องสูญเสียสิ่งที่ตนรักไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครจะหลีกเลี่ยงได้ คนทุกคนต่างต้องสูญเสียของที่ตนรัก สูญเสียคนที่ตนรักด้วยกันทั้งนั้น นี่ยังไม่พูดถึงการสูญเสียอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ หรือจากภัยพิบัติ ที่คาดไม่ถึง
ชีวิตกับความทุกข์ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่มาคู่กัน เปรียบได้กับด้านสองด้านของเหรียญ จะเลือกแค่ด้านใดด้านหนึ่งนั้นไม่ได้ เพราะมันมาพร้อมกันทั้งสองด้าน
เราคงจะเห็นแล้วว่าคนเรานั้นเหมือนกันก็ตรงที่ว่าเราต่างก็มีความทุกข์กายทุกข์ใจด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือ... แล้วเราจะไปเพิ่มทุกข์ให้คนอื่นอีกทำไม? แล้วเราจะไปเพิ่มทุกข์ให้ตัวเราเองอีกทำไม?
ก่อนที่เราจะพูดอะไรออกไปหรือว่าจะทำสิ่งใด เราเคยคิดบ้างไหมว่าสิ่งที่เรากำลังจะพูด หรือกำลังจะทำนี้ไปเพิ่มทุกข์ให้เขาหรือเปล่า? ไปเพิ่มทุกข์ให้ตัวเราเองหรือเปล่า?
หากเป็นไปได้ ทำไมเราไม่ทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น ความสุขของพวกเขาก็คือความสุขของตัวเราด้วยมิใช่หรือ?
เมื่อเราคิดและทำได้เช่นนี้ ไปๆ มาๆ อาจจะทำให้เราได้เห็นว่า แท้จริงแล้วเราทั้งหลายมิได้แยกออกจากกันเลย เราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งที่โยงใยเราไว้ด้วยกัน
บนเส้นทางของการภาวนา (ตามรู้)
นอกจากเส้นทางของความรักความเมตตาจะนำพาเราเข้าไปสู่ประตูของชีวิตที่แท้จริงแล้ว เส้นทางอีกเส้นทางหนึ่งที่มีการพูดถึงกันค่อนข้างบ่อยก็คือ เส้นทางของการภาวนา จะเรียกว่าเป็นเส้นทางของการฝึกสติ ฝึกสมาธิก็ได้ หลักใหญ่ของเส้นทางนี้อยู่ตรงที่การฝึกฝนจนเราสามารถเป็น "ผู้ดู" เป็น "ผู้สังเกตการณ์" ได้
การใช้ตามองดูสิ่งต่างๆ ที่อยู่ "ภายนอก" ตัวเรา นั้น ถือว่าเป็นเรื่องง่าย แต่การหันกลับเข้ามาดูสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน ดูว่าเรากำลังคิด หรือรู้สึกอะไร กลับกลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า
หลักสำคัญของการฝึกสติจึงอยู่ตรงที่ว่า เราสามารถรู้ตัวได้อย่างเป็นปัจจุบันหรือไม่?
เวลาทำอะไร ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน หยิบของ เราทำไปด้วยความรู้ตัวหรือไม่?
คนส่วนใหญ่มักจะทำไปโดยอัตโนมัติ ทำไปโดยที่ไม่มีความรู้สึกตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก มันคล้ายกับเรามีชีวิตอยู่ทั้งวันโดยที่จิตวิญญาณของเรานั้นยังไม่ตื่นขึ้นมาเลย ถึงแม้เราจะลืมตาอยู่ ถึงแม้เราจะไม่ได้นอนหลับ แต่การที่เราทำสิ่งต่างๆ ทั้งวันโดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวนั้น มันไม่ต่างอะไรกับการใช้ชีวิตอย่างหลับใหล ไม่ต่างอะไรจากคนที่เดินละเมอทั้งๆ ที่ยังหลับอยู่นั่นเอง
สติเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝน ไม่ใช่เรื่องที่คนนึกต้องการจะมีแล้วมันก็เกิดขึ้นได้ทันที เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการฝึกฝนจนทำให้อยู่อย่างเป็นปัจจุบันได้ คือไม่หลงไปกับความคิด ที่มักจะพาเรากลับเข้าไปยังเรื่องในอดีตที่ผ่านมาแล้ว หรือไม่ก็พาเราเตลิดเปิดเปิงไปในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ที่นี่ ในขณะปัจจุบัน กลับไม่ทันได้เห็น ไม่ทันได้รู้สึก เป็นการ "หลงนึก" มากกว่าที่จะอยู่กับความรู้สึก ณ ปัจจุบันขณะ ทำให้ไม่ได้เห็นการแปรเปลี่ยนของสิ่งต่างๆ ณ ขณะนั้น ไม่ได้เห็นการ "เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป" ของสิ่งเหล่านั้น
การเป็น "ผู้ดู" เปรียบได้กับผู้ที่ยืนอยู่ข้างถนน มองดูรถยนต์ที่วิ่งไปมา หลักสำคัญอยู่ที่ว่าต้องเป็นเพียงผู้ดูที่อยู่ริมถนนเท่านั้น อย่าได้กระโจนลงไปบนท้องถนน หรือเข้าไปนั่งในรถยนต์ที่กำลังวิ่งอยู่นั้น
การตามดูหรือการเฝ้าสังเกตที่ว่านี้ มีบ้างเหมือนกันที่อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนไป แทนที่จะเป็นการตามดูหรือเฝ้าสังเกตแบบสบายๆ กลับกลายเป็นการกระทำที่ตั้งใจมากจนเกินไป กลายเป็นตั้งป้อมเฝ้าดูหรือไม่ก็กลายเป็นการเพ่งจ้อง พยายามอย่างเต็มที่ที่จะควบคุมสิ่งต่างๆ เฝ้าระวัง คอยบังคับไม่ให้บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ตั้งใจจะควบคุมไว้ไม่ให้โกรธ ซึ่งก็เท่ากับว่าเราไปกดทับความโกรธไว้ ซึ่งในที่สุดมันก็เลยมุดหนีลงไปอยู่ในห้องใต้ดิน (ในจิตใต้สำนึก) และเก็บสะสมอยู่ที่ตรงนั้น ครั้นพอถึงวันหนึ่ง วันที่มันเก็บต่อไปไม่ไหว ก็เลยกลายเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตรายมาก
จะเห็นได้ว่าหลักของการฝึกสติที่แท้จริง จึงไม่ใช่การควบคุม แต่เป็นการฝึกสติให้ว่องไว ให้ทันต่อการรับรู้ ว่องไวต่ออารมณ์ความรู้สึก ณ ขณะนั้น เมื่อเรารู้ตัวได้ถี่ขึ้นๆ ในที่สุดเราก็จะเลิกโกรธไปเอง
ประตูที่รอการเปิด
เราไม่สามารถเปิดประตูสู่ชีวิตที่สมบูรณ์และสมดุลได้ด้วยการใช้ความคิด ประตูชีวิตสามารถเข้าถึงได้โดยอาศัย 2 เส้นทางหลัก คือ
1. เส้นทางของการภาวนา ผ่านการฝึกสติ จนเกิดสมาธิ เกิดปัญญา (ท่านที่สนใจสามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือ "สปาอารมณ์") และ
2. เส้นทางของความรัก ความเมตตา (อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ "ดีไซน์รัก") คือมองว่าคนทุกคนล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กับเรา ไม่ว่าเขาจะใส่เสื้อสีอะไร? จะอยู่ฝ่ายไหน? ที่แน่ๆ ไม่มีใครรอดพ้นจากความทุกข์กายทุกข์ใจไปได้ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราจะไปเพิ่มความทุกข์ให้เขาอีกทำไม? เราจะไปเพิ่มความทุกข์ให้ตัวเราอีกทำไม?
ทำไมไม่ใช้เวลาที่เหลืออยู่ มาช่วยกันลดความทุกข์ ช่วยกันเพิ่มความสุขให้กันและกัน ความขัดแย้งต่างๆ ที่มีอยู่นั้น เป็นสิ่งที่เกิดมาจากความคิดของเราทั้งสิ้น เป็นเพราะเรารับรู้ต่างกัน การตีความของเราอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์และอคติในใจที่ไม่เหมือนกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่สมมติกันขึ้นมาทั้งนั้น หาใช่ความจริงแต่อย่างใด ความทุกข์กายความทุกข์ใจต่างหากที่เป็นของจริง และเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะหนีพ้นมันไปได้
จะดีกว่าไหมถ้าเราจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ ฝึกตามดูอารมณ์ ตามดูความรู้สึกของเรา ฝึกตามดูการเคลื่อนไหวทั้งส่วนที่เป็นร่างกายและส่วนที่เป็นจิตใจ ฝึกสติให้ว่องไว จนสามารถรู้ เห็นและอยู่อย่างเป็นปัจจุบันได้...
จะดีกว่าไหม ถ้าเรามีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ปล่อยใจ เปิดใจให้เปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา ปล่อยให้มันไหลบ่าออกมาสู่เพื่อนมนุษย์ทุกคน ให้ทุกคนได้รับความรักที่เอ่อล้นออกมาจากใจของเราได้ทุกวันทุกเวลา โดยไม่ได้เจาะจงว่าจะส่งความรักให้แค่ในวันวาเลนไทน์เท่านั้น
เพียงเท่านี้ทุกคนก็สามารถเปิดประตูและก้าวไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์และสมดุลได้แล้ว!
เนื้อหาส่วนใหญ่ในบทความนี้ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนสรุปไว้จากการได้ทดลองปฏิบัติตามคำแนะนำของครูบาอาจารย์หลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำด้านจิตวิญญาณชาวอินเดียที่ใช้นามว่า "โอโช่" (OSHO) ซึ่งผู้เขียนได้แปลหนังสือคำบรรยายของท่านมาแล้วทั้งหมด 8 เล่ม คือ |