social_010.png [2]
จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ส่งผลให้ “พืชกัญชา” ถูกถอดออกจากยาเสพติด ประเภทที่ 5 และทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูก “พืชกัญชา” ในครัวเรือนได้ โดยจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ที่มีประชาชนให้ความสนใจ เข้าไปใช้งานแล้วมากกว่า 35 ล้านครั้ง และจดแจ้งปลูกกัญชาสำเร็จไปกว่า 7 แสน ใบ ทำให้กระแสแฮชแท็ก “กัญชาเสรี”กลายเป็นปรากฎการณ์ไปทั่วประเทศ เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ จาก “กัญชา” ในทางการแพทย์ได้แล้ว ประชาชนยังสามารถจดแจ้งเพื่อปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย
แต่ในทางกลับกัน การปลดล็อกกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติด ก็ทำให้หลายหน่วยงานที่ทำงานด้านสุขภาพเกิดความกังวล ต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เพราะความไม่รู้ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอ ในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน หรือการประกอบธุรกิจ เช่น การนำกัญชา มาเป็นส่วนผสมในอาหาร นำมาเป็นส่วนประกอบในการทำขนม หรือสกัดน้ำกัญชาเพื่อดื่มคลายความเครียด แก้ปัญหาการนอนไม่หลับ
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข้อกังวลที่น่าสนใจ ดังนี้
1) ข้อคิดเห็นจาก รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กังวลเรื่องประชาชนนำไปใช้สันทนาการ แต่อ้างข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
2) ข้อคิดเห็นจาก ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน เพราะอาจส่งผลต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น เช่น พัฒนาการล่าช้า ปัญหาด้านพฤติกรรม เชาวน์ปัญญาลดลง ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ และเสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่นๆได้
3) ข้อคิดเห็นจาก นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว ได้ออกมาให้ทัศนะถึงการใช้ กัญชา โดยอ้างอิงงานวิจัยของสถาบันวิชาการแห่งชาติสหรัฐ (NAS) ที่ระบุว่าการใช้กัญขาในคนที่ไม่ได้เป็นโรคทางจิตประสาทมาก่อนจะทำให้เป็นโรคกลัวสังคมมากขึ้น และจะเป็นปากทางนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ เช่น โคเดน ฝิ่น และเฮโรอีน และในแง่ของผลกระทบที่เกิดกับหัวใจ จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหลายแบบ รวมทั้งแบบอันตราย
4) ข้อเสนอจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เสนอให้มีมาตรการควบคุมกัญชา เช่น ออกพระราชกำหนดควบคุมกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชา ขอให้รัฐสภาพเร่งพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กันชง พ.ศ. ..... เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้มีการบริโภคกัญชาอย่างไม่เหมาะสม
5) นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อชี้แนะว่า ในกลุ่มเยาวชนอายุน้อยกว่า 25 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุควรใช้กัญขาด้วยความระมัดระวัง และห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการโรคหัวใจ และหลอดเลือดขั้นรุนแรง หรือไม่สามารถควบคุมอาการได้ รวมถึงผู้ที่มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร
6) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ มีข้อกังวลเกี่ยวกับการนำกัญชามาทำอาหารว่า แม้ว่าห้ามนำเอาส่วนของกัญชาที่มีสาร THC มาก เช่น ช่อดอก มาใส่ในอาหาร ควรใช้บริเวณใบ ซึ่งมีสาร THC ก็ยังต้องระวังไม่ใช้ใบกัญชามากเกินไป เพราะอาจทำให้สาร THC มีความเข้มข้นสูงตามไปด้วย เพราะเมื่อใบกัญชาผ่านความร้อน สาร THC จะออกฤทธิ์มากขึ้นกว่าเดิม และหากนำใบกัญชามาผัดน้ำมัน จะยิ่งอันตราย เพราะทั้งผ่านความร้อน และน้ำมัน ที่จะทำให้สกัดสาร THC ออกมาได้มาก
เมื่อพิจารณาจากข้อกังวลของหน่วยงาน บุคลากรทางการแพทย์ และนักวิชาการ ที่กล่าวมาจะเห็นว่า เราสามารถจำแนกข้อกังวลออกได้เป็น 5 ประเด็น ได้แก่
1.ข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและเยาวชน
เนื่องจากกัญชามีสาร THC (∆9-tetrahydrocannabinol) และ CBD (cannabidiol) โดยใบกัญชาจะมีสาร THC ประกอบอยู่ถึง 12% และมี CBD ไม่ถึง 0.30% ซึ่งสาร THC มีผลกระทบต่อสมองเด็กและวัยรุ่น แบ่งออกเป็นอาการต่างๆ 3 กลุ่มอาการ ดังนี้
1.1 อาการทางระบบประสาท
1.2 อาการทางระบบหัวใจ
1.3 อาการทางระบบทางเดินอาหาร
ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง อารมณ์และจิตใจ รวมถึงผลเสียต่อสุขภาพกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น พัฒนาการล่าช้า ปัญหาพฤติกรรม เชาวน์ปัญญาลดลง โรคจิตเภท ภาวะฆ่าตัวตาย และมีความเสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่นๆ ถ้าหากอ้างอิงตามคำแนะนำของแพทยสภา อายุที่เหมาะสมที่แพทย์หรือผู้ป่วยจะตัดสินใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ จะเป็น 25 ปีบริบูรณ์ ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงสาธารสุข ได้ออกประกาศ เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่กำหนดมิให้จำหน่ายกัญชาให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร
2.ข้อกังวลเกี่ยวกับการบริโภคกัญชาอย่างที่ไม่เหมาะสม เพราะขาดการควบคุม
สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นและข้อควรระวังจากการใช้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาที่ประชาชนควรรู้ และควรทราบ หากใช้กัญชาโดยไม่ระมัดระวัง หรือไม่อยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์ อาจจะเกิดความเสี่ยงต่อร่างกาย และระบบประสาทได้ ดังนี้
1) ผลข้างเคียงในระยะสั้นต่อระบบประสาท
- มีความผิดปกติในการใส่ใจและสมาธิ
- เวียนศีรษะหรือมึนศีรษะ
- ง่วงนอนมากผิดปกติ
- เห็นภาพหลอนหรือหูแว่ว
- ความผิดปกติในการตัดสินใจและการควบคุมการเคลื่อนไหว
- กล้ามเนื้ออ่อนล้า เพลียง่าย
- สูญเสียการทรงตัว
- คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง หรือท้องผูก
- มีภาวะซึมเศร้า หรือทำให้เกิดโรคจิต
- ความคิดและความจำเลวลง
2) ผลข้างเคียงในระยะยาวต่อระบบประสาท
มีการศึกษาพบว่าการใช้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาอาจมีผลเสียต่อความจำระยะยาว การวางแผน และ ความสามารถในการตัดสินใจ และมีข้อมูลว่าการใช้กัญชาในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หลอดเลือดสมอง
3) ผลของกัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม และในบางกลุ่มอายุ
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ไม่ควรใช้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชา เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมองทำให้ไอคิวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ความจำลดลง การใส่ใจและสมาธิลดลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น โรคซึมเศร้า
- ผู้สูงอายุ มีผลต่อการเดินและการทรงตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม รบกวนความจำระยะสั้น และการตอบสนองทางอารมณ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด กล้ามเนื้อหัวใจตาย เสียชีวิตกะทันหัน หัวใจเต้น ผิดจังหวะ และเพิ่มความเสี่ยงของอาการทางจิต รวมทั้งการฆ่าตัวตาย
- ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต กัญชาจะทำให้อาการทางจิตเป็นมากขึ้น และมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า การใช้กัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต รวมทั้งผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวที่มีอาการป่วยด้วยโรคทางจิต
- ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ควรใช้กัญชาและสารสกัดจากกัญชา เนื่องจากมีผลต่อระบบการทำงานของหัวใจและทำให้มีการหดตัวของหลอดเลือด เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมอง และมีข้อมูลว่ากัญชาเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้กัญชา ยังมีผลเพิ่มระดับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดวาร์ฟาริน (warfarin) ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกได้
- หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ไม่ควรใช้กัญชาและสารสกัดจากกัญชาเพราะจะมีผลต่อเด็กในครรภ์และทำให้พัฒนาการช้า
3.ข้อกังวลเกี่ยวกับการนำไปสู่การทดลองเสพสารเสพติดอื่นๆ
อย่างที่ทราบกันว่าแต่เดิม “กัญชา” จัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และเนื่องจาก กัญชา เป็นพืชสมุนไพรที่หาได้ง่าย จึงเป็นเหมือนกับยาเสพติดชนิดแรก นอกเหนือจาก “บุหรี่” ที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เมื่อได้ลองเสพแล้ว อาจทำให้เกิดความอยากที่จะทดลองยาเสพติดชนิดอื่นๆ ด้วย
4.ข้อกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ของกัญชาที่มีผลต่อจิตประสาท
จากข้อกังวลของ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย พบว่า ยังไม่มีข้อบ่งชี้สำหรับสารสกัดกัญชาในโรคทางจิตเวชทุกโรค และอาจทำให้โรคทางจิตเวชแย่ลง โดยมีตัวอย่างของกลุ่มโรคที่พบว่า กัญชาส่งผลเสียต่อการดำเนินโรค ได้แก่
- กลุ่มโรควิตกกังวล (anxiety disorders) พบว่าผู้ป่วยโรคตื่นตระหนก (panic disorder) มีแนวโน้มจะใช้กัญชาเพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวล (self-medication) มีความชุกของโรควิตกกังวลเพิ่มขึ้น และผู้ป่วยวิตกกังวลมีความสัมพันธ์กับอัตราการใช้กัญชาสูง
- โรคซึมเศร้า (depressive disorders) พบว่าการใช้กัญชาเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าโดยขึ้นกับปริมาณที่ใช้
- โรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorders) กัญชามีผลทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการแมเนีย (mania) กำเริบ
- โรคจิตเภท (schizophrenia) มีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายชิ้นที่สนับสนุนว่า การใช้กัญชามีความเสี่ยงต่อ การเกิดโรคจิตเภทหรือโรคจิตชนิดอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะผู้ใช้กัญชาเป็นประจำปริมาณมากๆ มี ประวัติเคยเป็นโรคจิตมาก่อนหรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยทางจิต
- ปัญหานอนไม่หลับ (insomnia) พบว่าสาร CBD มีประสิทธิผลดีกว่า THC ซึ่งมีผลต่อการลด sleep latency แต่ทำให้คุณภาพการนอนเสียในระยะยาว
5.ข้อกังวลเกี่ยวกับการนำกัญชาไปประกอบอาหาร
เนื่องจากตั้งแต่มีการปลดล็อกกัญชา ได้มีรายงานข่าวออกมาถึงผลกระทบที่เกิดกับประชาชนทั่วไป หลังจากรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา แล้วเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะการนำใบกัญชามาปรุงประกอบอาหาร โดยไม่ได้ควบคุมปริมาณให้มีความเหมาะสม ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยปริมาณที่เหมาะสมในการนำใบสดมาประกอบอาหาร คือ ไม่ให้ใช้เกิน 1 ใบสด ต่อ 1 เมนู เฉพาะกรณีนำไปผัด แกง ต้ม และเครื่องดื่ม
สำหรับเมนูทอด เช่น ไข่เจียว ให้ใช้ปริมาณใบกัญชา 1/2 - 1 ใบสด (เนื่องจาก มีการใช้น้ำมัน และใช้ระยะเวลานาน จึงทำให้เกิดสาร THC ในปริมาณสูง)
คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการใช้กัญชาประกอบอาหาร มีดังนี้
- ไม่ควรนำเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบของใบกัญชามาอุ่นซ้ำ และไม่ควรใส่ใบกัญชาเพิ่มใน
เมนูอาหารเดิม เพื่อนำมาจำหน่ายใหม่
- ควรใส่ใบกัญชาในขั้นตอนสุดท้ายของการปรุงประกอบอาหาร เพื่อไม่ให้ใบกัญชาโดนความร้อนสูง
ใน 1 วัน แนะนำให้ทานได้ไม่เกิน 2 เมนู
- หากมีอาการไม่พึงประสงค์ ไม่ควรรับประทาน
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าจะมีข้อมูลออกมามากมายว่าการปลดล็อก “กัญชา” ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่ข้อมูล และความชัดเจนในการใช้สารสกัดกัญชารักษาโรคทางการแพทย์แผนปัจจุบันยังมีข้อบ่งใช้ที่จำกัด หากผู้ใช้งานไม่ได้ศึกษาข้อมูลก่อนที่จะใช้ประโยชน์จากกัญชา มุ่งแต่จะใช้เพื่อการสันทนาการ การปลดล็อกกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ และทำให้รัฐเกิดภาระในการดูแลความเจ็บป่วยของประชาชนมากกว่าจะเกิดผลดีต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม เหมือนกับที่มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในต่างประเทศว่า รายได้ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการประกอบธุรกิจกัญชา มีความคุ้มค่าน้อยกว่า เมื่อนำมาพิจารณารวมกับผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาวที่ส่งผลต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในช่วงวัยแห่งการเจริญเติบโต ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา