“ตู๊ดต๊าด....กริ้ง เกร้ง..ครืน...แก็ก ฯลฯ เสียงดังอื้ออึงเหล่านี้ ทำให้สมศรีนอนแทบไม่หลับตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา หลังจากที่เข้ามานอนในตึกสามัญแผนกอายุรกรรมของโรงพยาบาลรัฐบาลแถบชานเมืองแห่งหนึ่งใกล้บ้านของเธอ เธอคิดว่าถ้าเป็นไปได้ อยากขอหมอกลับบ้านให้เร็วที่สุด เพราะ การไม่ได้พักผ่อนให้เต็มที่เป็นความทุกข์ทรมานอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วย...
มีการศึกษาพบว่า ในห้องผู้ป่วยหนัก (ICU = Intensive Care Unit) ของโรงพยาบาล มีเสียงดังชนิดต่างๆถึง ๓๓ ชนิด ทั้งเสียงเครื่องจับสัญญาณชีพ (Monitoring Unit) ชนิดต่างๆ เสียงดูดเสมหะ, เสียงเครื่องช่วยหายใจ, เสียงครางของผู้ป่วย และอื่นๆอีกสารพัด...
ที่แผนกผู้ป่วยนอก ยังมีเสียงประกาศ เสียงเด็กร้อง เสียงไอจามของผู้ป่วย เสียงขานเรียกผู้ป่วย พบว่าแม้กระทั่งเสียงโทรทัศน์ ก็มีส่วนทำให้ความดันของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้ป่วยบางราย วัดความดันโลหิตที่บ้านอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เมื่อวัดที่โรงพยาบาลกลายเป็นว่ามีความดันโลหิตสูง...จากการวิจัยพบว่า ทุกวันนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งมีเสียงดังเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเมือง ยิ่งบางโรงพยาบาลมีการก่อสร้าง ยิ่งเป็นมลภาวะทางเสียงรบกวนกับผู้ป่วยมากขึ้น
ความเงียบนั้น มีผลด้านบวกต่อการทำงานของสมอง การที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยเสียงต่างๆ และรบกวนการพักผ่อนของผู้ป่วย ตลอดจนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของทุกคนที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลควรเป็นสถานที่ซึ่ง สงบ เย็น สะอาด และเหมาะแก่การพักฟื้นของผู้ป่วย
สถาปนิกท่านหนึ่งกล่าวว่า สถาปนิกไม่ค่อยอยากออกแบบอาคาร สิ่งก่อสร้างในโรงพยาบาล เพราะมีข้อกำหนดและข้อจำกัดแยะเกินไป โรงพยาบาลบางแห่งต้องก่อสร้างขึ้นทางสูงแล้วในขณะนี้ เพราะข้อจำกัดเรื่องที่ดินคับแคบ ความแออัดจึงตามมา การออกแบบให้ทำอย่างไรจึงจะลดสุ้มเสียงต่างๆให้น้อยลง จึงเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่สำคัญในขณะนี้
คนไทยเรานั้น บ่อยครั้งเรามีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมการใช้เสียง ตัวอย่างเช่น รถยนต์บางคันติดลำโพงที่มีกำลังขยายสูง เปิดเสียงดัง การใช้เสียงของสถานบันเทิงและรีสอร์ทต่างๆในยามค่ำคืน หรือแม้กระทั่งในรถไฟฟ้า รถใต้ดินที่มีการโฆษณาต่างๆทำให้คนเกิดความเครียดมากขึ้นในชีวิตประจำวัน
โรงพยาบาลในกรุงเทพฯบางแห่งมีอาคารถึง ๕๐-๖๐ อาคาร ทำให้ผู้ป่วยและญาติหลงทางได้บ่อยๆ มีการวิจัยพบว่าการหลงทางของผู้ป่วยทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเพราะทำให้ต้องใช้เวลามากขึ้น
สำนึกที่เรียกว่า “นิเวศวัฒนธรรม” เป็นสิ่งที่พบว่า บางครั้งขาดหายไปในการก่อสร้างอาคารสถานที่ของหน่วยราชการของรัฐ
จากการเฝ้าระวังและประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงานด้านเสียงในหน่วยงานต่างๆของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พบว่ามี ๓ หน่วยงาน มีระดับความดังของเสียงเกิน ๘๐ เดซิเบล ได้แก่ งานซ่อมบำรุง, งานโภชนาการ, งานซักฟอก และพบว่าเจ้าหน้าที่ถึง ๕๐% ของแผนกซักฟอกมีความผิดปกติจากการได้ยิน จนต่อมาโรงพยาบาลต้องออกมาตรการควบคุมและป้องกันอันตรายจากเสียงดังกล่าว
มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก กำหนดให้เสียงตั้งแต่ระดับ ๓๐ เดซิเบลขึ้นไป มีผลรบกวนการพักผ่อนของผู้ป่วย สมัยที่มีการชุมนุมของม็อบกปปส.เมื่อปี ๒๕๕๗ นั้น มีการชุมนุมถึง ๗ เวทีด้วยกัน พบว่ามีผลกระทบต่อโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งสิ้นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ๔ แห่ง ซึ่งมีผู้ป่วยนอนพักอยู่กว่าพันราย อันนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องมาประเมินผลกระทบกันในระยะยาว ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
การที่ผู้ป่วยต้องพยายามข่มตาหลับท่ามกลางเสียงอื้ออึงนั้น ในประเทศอังกฤษมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลในทั่วประเทศ พบว่าเสียงรบกวนในเวลากลางคืนเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ป่วย ซึ่งรบกวนการนอน นับตั้งแต่เสียงรบกวนจากตัวบุคลากร ทั้งระหว่างที่พูดคุยกัน หรือเดินเสียงเดินผ่านไปมา รวมถึงเสียงรบกวนจากรถเข็น เสียงโทรศัพท์ เสียงกรน เสียงโหวกเหวกโวยวาย ของผู้ป่วยคนอื่น ซึ่งทำให้ต่อมาเกิดโครงการลดการใช้เสียงในโรงพยาบาลตามมา
การใช้หลักการใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง พัฒนากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเสียงรบกวนร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกับผู้ป่วย น่าจะเป็นยุทธศาสตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาคุณภาพบริการของโรงพยาบาล การดูแลสุขภาพที่ดีนั้น ผู้ให้บริการจำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ป่วย และพื้นฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ต่างๆ เพื่อทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดียิ่งขึ้น