ในปัจจุบันโรคหัวใจขาดเลือดเป็นสาเหตุของการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง และการสูบบุหรี่ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้
โคเลสเตอรอล (cholesterol) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายใช้สร้างเป็นเยื่อบุเซลล์ สร้างเป็นฉนวนหุ้มเส้นประสาท สร้างฮอร์โมนต่างๆ ที่สำคัญคือฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ยังใช้สร้างเกลือน้ำดี ซึ่งช่วยในการย่อยอาหาร ร่างกายได้รับโคเลสเตอรอลจาก ๒ ทางคือ
๑. จากอาหารที่มาจากสัตว์ ทั้งนี้อาหารที่มาจากพืชไม่มีโคเลสเตอรอล อาหารที่มีโคเลสเตอรอลมากได้แก่ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง และสัตว์ที่มีกระดอง เป็นต้น
๒. ร่างกายสร้างขึ้นเองที่ตับ เมื่อตับได้โคเลสเตอรอลจากอาหารมาก การสังเคราะห์โคเลสเตอรอลในตับจะลดลง ในทางกลับกันถ้าลดปริมาณโคเลสเตอรอลในอาหาร ตับจะสร้างโคเลสเตอรอลขึ้นมาเอง
ไม่ว่าจะเป็นโคเลสเตอรอลที่ตับสร้างเองหรือได้จากอาหาร ตับจะส่งโคเลสเตอรอลไปสู่เนื้อเยื่ออื่นๆ ของร่างกาย โดยส่งรวมกับกรดไขมันและไลโพโปรตีนที่มี ความหนาแน่นต่ำมากเรียก วีแอลดีแอล (VLDL) ซึ่งสร้างจากตับ เมื่อวีแอลดีแอลส่งกรดไขมันไปให้เนื้อเยื่อไขมันแล้ว ตัวมันเองจะมีความหนาแน่นมากขึ้นกลายเป็น ไลโพโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำเรียกว่า แอลดีแอล (LDL) ซึ่งมีโคเลสเตอรอลเกาะอยู่ เนื้อเยื่ออื่นๆ ของร่างกายจะรับโคเลสเตอรอลไปได้ต้องมีตัวรับแอลดีแอล (LDL receptor) จากนั้นแอลดีแอลจะถูกพาเข้าเซลล์ แล้วถูกย่อยสลาย เซลล์จะนำโคเลสเตอรอลไปใช้สร้างหรือซ่อมแซมเยื่อเซลล์ของเนื้อเยื่อนั้น
เอชดีแอล (HDL) ทำหน้าที่ตรงกันข้ามกับแอลดีแอล คือ ขนส่งโคเลสเตอรอลที่มากเกินพอในเซลล์กลับไปยังตับ
โคเลสเตอรอล : สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจขาดเลือด
ในปัจจุบันโรคหัวใจขาดเลือดเป็นสาเหตุของการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง และการสูบบุหรี่ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ท่านสามารถควบคุมได้
โดยทั่วไปเมื่อคนเราอายุมากขึ้น ผนังของหลอดเลือดแดงจะแข็งตัวขึ้นทำให้ขาดความยืดหยุ่น ถ้ามีแผ่นคราบไขมันซึ่งส่วนใหญ่เป็นโคเลสเตอรอลมาเกาะติดที่ผนัง ด้านใน จะทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) เมื่อเป็นมากขึ้น เลือดจะไหลผ่านไม่ดี เกิดเป็นก้อนอุดตันได้ (รูปภาพ) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด (coronary heart discase) จากการศึกษาในประชากรทั่วโลกพบว่า ผู้ใหญ่ที่มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินกว่า ๒๖๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะมีอุบัติการณ์ของโรคหัวใจขาดเลือดสูงกว่าคนที่มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดน้อยกว่า ๒๒๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ประมาณ ๓-๕ เท่า การที่มีระดับโคเลสเตอรอลรวม (total cholesterol) ในเลือดสูง ส่วนใหญ่เกิดจากการมีระดับแอลดีแอลโคเลสเตอรอลสูง (LDL-C)
การมีระดับแอลดีแอลโคเลสเตอรอลมากกว่า ๑๓๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เราจึงถือว่า แอลดีแอลโคเลสเตอรอลเป็นโคเลสเตอรอลเลว ส่วนเอชดีแอลโคเลสเตอรอลเป็นโคเลสเตอรอลดี เพราะทำหน้าที่ขนถ่ายโคเลสเตอรอลจากผนังหลอดเลือดแดงที่แอลดีแอลไปปล่อยไว้กลับคืนสู่ตับ ซึ่งตับจะเผาผลาญโคเลสเตอรอลเป็นน้ำดีแล้วขับออกจากร่างกายทางอุจจาระ เรายังพบว่า คนที่มีปริมาณระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL-C) น้อยกว่า 35 มก./ดล. จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่มีเอชดีแอลโคเลสเตอรอลสูง
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด จะมีอาการเจ็บป่วย 3 แบบ ได้แก่
๑. มีอาการหัวใจวายเสียชีวิตปัจจุบันทันด่วน
๒. มีอาการของโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (angina pectoris) คือมีการเจ็บหน้าอกแบบบีบรัดแน่นหน้าอก และปวดร้าวขึ้นคอ ขากรรไกร หรือไหล่ ซึ่งจะหายไปเองในช่วงเวลาสั้นๆ (มักไม่เกิน ๕ นาที)
๓. เป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardiai infarction) ผู้ป่วยจะเจ็บกลางหน้าอกรุนแรง เจ็บร้าวลามไปถึงแขน คอและไหล่ มักเจ็บติดต่อนานเป็นชั่วโมงๆ ขึ้นไป ร่วมกับอาการอ่อนเปลี้ย หอบเหนื่อย
เมื่อท่านอ่านถึงตรงนี้หยุดคิดถึงตัวท่านเอง และบุคคลที่ท่านรักสักครู่ ถ้าที่ผ่านมา ท่านหรือคนที่ท่านรักเคยเกิดอาการดังกล่าวมาแล้ว โปรดอย่านิ่งนอนใจ รีบพาตัวเองหรือคนที่ท่านรักไปพบแพทย์ เพื่อขอรับการรักษา หรือท่านที่มีอายุมากกว่า ๔๐ ปี ขึ้นไป ท่านควรเข้ารับการตรวจร่างกาย รวมทั้งสำหรับการเตรียมตัวก่อนเจาะเลือด ส่วนมากแพทย์จะนัดเจาะเลือดในตอนเช้า ท่านต้องอดอาหารก่อนตรวจไม่ต่ำกว่า ๑๒ ชั่วโมง โดยหลัง ๒๐.๐๐ น. ของคืนก่อนตรวจ ท่านต้องไม่กินอาหารอะไรอีกยกเว้นน้ำเปล่าที่ดื่มได้
ป้องกันโคเลสเตอรอลสูง
ดังนั้นเรามีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปริมาณโคเลสเตอรอลสูงในเลือดได้อย่างไร เพราะสุดท้ายแล้ว อาหารคือตัวเรา (you are what you eat)
๑. กินโคเลสเตอรอลไม่เกินวันละ ๓๐๐ มิลลิกรัม ทำได้โดยลดหรือเลิกกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ สมองหมู หนังสัตว์ เช่น หนังไก่ หนังเป็ด หนังหมู ไข่แดง (ไข่ขาวไม่มีโคเลสเตอรอล) ไข่ปลา ปลาหมึก หอยนางรม เป็นต้น เลือกกินเฉพาะเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมพร่องไขมัน
๒. ใช้น้ำมันพืชปรุงอาหาร
๓. ไม่ควรกินอาหารทอดเป็นประจำ เช่น กล้วยแขก ปาท่องโก๋ ไก่ทอด รวมทั้งแกงกะทิด้วย
โภชนบัญญัติ ๙ ประการ
ผู้เขียนขอแนะนำให้พวกเราปฏิบัติตาม “ข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย หรือโภชนบัญญัติ ๙ ประการ” ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
๑. กินอาหารครบ ๕ หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายและหมั่นดูแลน้ำหนักตัว รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
๒. กินข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ
๓. กินพืชผักให้มาก และกินผลไม้ให้เป็นประจำ
๔. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ
๕. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
๖. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร
๗. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัด และเค็มจัด
๘. กินอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อนจากเชื้อรา พยาธิ สารเคมีที่เป็นพิษเป็นต้น
๙. งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และที่สำคัญคือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ