default.jpg [2]
การให้บริการอาหารคนไข้ เพื่อให้ได้อาหารที่สะอาด มีสารอาหารครบถ้วน พอดีกับความต้องการของร่างกาย และเหมาะสมกับภาวะโรค เป็นงานหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการรักษาพยาบาล
ฝ่ายโภชนาการ
ฝ่ายโภชนาการเป็นหน่วยงานหนึ่งของโรงพยาบาล รับผิดชอบผลิตและให้บริการอาหารคนไข้ ตามหลักโภชนศาสตร์ ดำเนินการเรื่องโภชนบำบัด ครอบคลุมการคัดกรองและดูแลภาวะโภชนาการ ให้สุขศึกษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพด้านอาหารแก่คนไข้ ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักเลือกบริโภคอาหารที่ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นผลร้ายต่อสุขภาพ
ขอนำเสนอผลงานฝ่ายโภชนาการโรงพยาบาลทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งหนึ่ง ซึ่งพัฒนางานด้านนี้ได้ดีเยี่ยม และผ่านการประเมินตามมาตรฐานสุขาภิบาลโรงครัวมาตรฐาน HPH plus
โครงสร้างกายภาพและการจัดสัดส่วน
โครงสร้างกายภาพออกแบบตามมาตรฐานสุขาภิบาลโรงครัว ผนังโดยรอบกรุด้วยมุ้งลวดและปิดกระจกป้องกันแมลง แบ่งพื้นที่สะอาดและปนเปื้อนออกเป็นสัดส่วนชัดเจน กำหนดเส้นทางเคลื่อนย้ายไม่ปะปนกัน ทั้งอาหารสด อาหารที่ปรุงสุก และถ้วยชามที่คนไข้กินแล้ว
มีระบบระบายอากาศรวมทั้งกลิ่นและควัน โดยใช้ปล่องควันและพัดลมดูดอากาศ ระบบระบายน้ำมีสภาพดี มีบ่อตักเศษอาหารและตักไขมันก่อนระบายลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย
เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
การคัดเลือกเจ้าหน้าที่ทุกระดับเข้าทำงาน มีการตรวจสุขภาพและตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อป้องกันบุคคลที่เป็นโรคติดต่อ และมีการตรวจสุขภาพซ้ำทุกปี
การจัดสวัสดิการความปลอดภัยในการทำงาน ป้องกันความเสี่ยงจากของมีคมและความร้อน จัดมุมพักผ่อนเพื่อความผ่อนคลาย
เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเครื่องแบบก่อนเข้าสู่ภายในส่วนของการเตรียมอาหาร ผู้ปรุงอาหารต้องผูกผ้ากันเปื้อนสีขาวและสวมหมวกสีขาว
มีการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารปรุงสำเร็จ ภาชนะ และมือผู้สัมผัสอาหารทุกเดือน โดยสุ่มอย่างน้อย ๒ ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาแบคทีเรียโคลิฟอร์ม
การเตรียมอาหารให้ทางสายยาง
คนไข้ที่กินอาหารไม่ได้ ทำให้ร่างกายทรุดลงจากการขาดสารอาหาร ส่งผลให้ผลการรักษาพยาบาลไม่ดี การให้อาหารทางสายยางสู่กระเพาะอาหารจึงเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง
การเตรียมอาหารทางสายยาง ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ ต้องจัดห้องเตรียมอาหารแยกเฉพาะ ภาชนะทุกชนิดที่ใช้ต้องต้มหรือลวกด้วยน้ำร้อนก่อนและหลังใช้ทุกครั้ง
นักโภชนาการต้องกำหนดสูตรอาหารให้ได้หมู่อาหารและแคลอรีตามที่แพทย์ต้องการ เพื่อให้คนไข้ได้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน
คนไข้ที่ต้องให้อาหารทางสายยางมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ กรณีคนไข้อยู่ในระยะเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ควรให้อาหารทางการแพทย์แบบสำเร็จรูป เพื่อให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ง่าย
เมื่อคนไข้อาการดีขึ้น ควรให้อาหารเหลวสูตรปั่นผสม เพื่อให้ร่างกายสร้างน้ำย่อยอาหาร และปรับสภาวะการรับอาหารของคนไข้ให้พร้อมกินอาหารต่อไป
เมื่อคนไข้ดีขึ้นจนแพทย์เตรียมถอดสายยาง จะจัดโจ๊กสำหรับฝึกการกลืนร่วมกับอาหารเหลวและปั่นผสม
การจัดอาหารเฉพาะโรค
คนไข้บางกลุ่มต้องควบคุมอาหารทั้งประเภทและปริมาณ เช่น คนไข้เบาหวานต้องจำกัดปริมาณแคลอรีและคาร์โบไฮเดรต คนไข้ไขมันในเลือดสูง ต้องจำกัดปริมาณไขมัน คนไข้โรคไตหรือมีอาการบวมต้องจำกัดปริมาณเกลือ คนไข้โรคหัวใจต้องจำกัดไขมันและลดคอเลสเตอรอล
คนไข้บางกลุ่มต้องได้รับการบริการอาหารเป็นพิเศษ เช่น คนไข้หลังผ่าตัดทางศัลยกรรมช่องท้อง หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร คนไข้อัมพาต คนไข้เด็ก คนไข้สูงอายุ
ข้าวกล้องเสริมคุณค่าโภชนาการ
เพื่อส่งเสริมสุขภาพ จึงใช้ข้าวกล้องหอมมะลิแทนข้าวขาวหุงให้คนไข้และเจ้าหน้าที่ เนื่องจากข้าวกล้องมีสารอาหารและเส้นใยมากกว่าข้าวขาว
มีการปรับปรุงขั้นตอนวิธีการหุงข้าวกล้องให้นุ่มและมีลักษณะคล้ายข้าวเหนียว ทำให้น่ากิน
โปรตีนธัญพืช ฟื้นกล้ามเนื้อ
เพื่อเสริมคุณค่าโภชนาการในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก จึงเพิ่มโปรตีนจากถั่ว ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีไขมันน้อย โดยการผสมถั่วเขียวกับข้าวกล้อง เริ่มแรกให้เฉพาะมื้อกลางวัน เมื่อคนไข้กินได้ดีจึงเพิ่มมื้อเย็น พบว่าคนไข้มีภาวะโภชนาการดีขึ้น และมีความพึงพอใจในรสชาติ
อาหารเป็นยาวิเศษ
โภชนบำบัดเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ พยาบาลคัดกรองภาวะทุโภชนาการ นักโภชนาการประเมินคนไข้เฉพาะรายโดยละเอียด วางแผนการให้โภชนบำบัดร่วมกับแพทย์ พยาบาลเป็นผู้ให้อาหารตามแผน
อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เยียวยาสภาวะร่างกายกลับสู่สมดุล สร้างภูมิต้านทานที่มีประสิทธิผล โรคร้ายถูกกำจัด อวัยวะที่บาดเจ็บได้รับการซ่อมแซมฟื้นฟู
อาหารที่ดีเป็นยารักษาไข้ ฟื้นฟูร่างกาย ป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพ