ยาแก้ข้อเข่าอักเสบ
ปวดหัวเข่า
โรคปวดหัวเข่า ในที่นี้คงหมายถึง โรคข้อเข่าเสื่อม (osteoarthritis of knee) ซึ่งเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เป็นการเสื่อมสภาพของข้อเข่าตามสภาวะการใช้งาน การเสื่อมในลักษณะนี้อาจเกิดกับข้อใดๆของร่างกายก็ได้ แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ ข้อเข่า (knee) ทั้งนี้ เนื่องจากข้อเข่าเป็นข้อขนาดใหญ่ที่รับน้ำหนักร่างกายของคนเราทั้งตัว และมีการใช้งานมาเป็นเวลานานแล้ว
สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของข้อเข่า ได้แก่ อายุ เพศ น้ำหนักตัว การใช้งานของข้อเข่า การบาดเจ็บของข้อเข่า และความแข็งแรงของข้อเข่า เป็นต้น เมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีการใช้งานของข้อเข่ามากขึ้นและนานขึ้น ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่า และเป็นโรคเข่าเสื่อมได้ ในเพศหญิงจะพบอาการข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่า เพศชายถึง ๒ เท่า ในคนอ้วนหรือเมื่อน้ำหนักมากขึ้น ข้อเข่าก็จะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรับน้ำหนักตัวของเรานี้ ทำให้โรคนี้ลุกลามมากขึ้น ในด้านการใช้งานของข้อเข่า เช่น การยืนติดต่อกัน นานๆ การขึ้นบันไดจำนวนมาก การนั่งยองๆ การนั่ง พับเพียบ หรือการยกของหนัก เป็นต้น ถ้าต้องทำท่าทางเช่นนี้อยู่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ก็ช่วยเพิ่ม ปัจจัยเสี่ยงให้เป็นโรคนี้มากขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย เมื่อใดที่เกิดอุบัติเหตุหกล้มหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าก็อาจส่งผลกระทบต่อการเสื่อมของข้อเข่าได้ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก เราพบว่าผู้ที่ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และได้รับแคลเซียมในปริมาณที่พอเพียงจะช่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่าได้
การดูแลรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
เมื่อเราทราบสาเหตุสำคัญซึ่งได้แก่ อายุ เพศ น้ำหนักตัว การใช้งานของข้อเข่า การบาดเจ็บของข้อเข่า และความแข็งแรงของข้อเข่า เราก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นการซ้ำเติมการปวดอักเสบข้อเข่า อันได้แก่ น้ำหนักตัว การใช้งานของข้อเข่า และการบาดเจ็บของข้อเข่า พร้อมทั้งเสริมสร้างความแข็งแรงของข้อเข่าด้วยการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และได้รับแคลเซียมในปริมาณที่พอเพียง ส่วนเรื่องอายุนั้นคงจะไม่มีใครหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาเพื่อให้อายุลดน้อยลงหรือไม่ให้อายุเพิ่มขึ้นได้ มีแต่อายุจะมากขึ้นๆ เรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป เช่นเดียวกับเรื่องเพศคงเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ความอ้วน
ในเรื่องน้ำหนักตัว เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้ามีการลดน้ำหนักลงได้ จะบรรเทาอาการปวดและอักเสบข้อเข่าได้เป็นอย่างดี มีอาจารย์หลายท่านเคยเปรียบเทียบไว้ว่า การที่น้ำหนักตัวมากขึ้น ก็เปรียบเสมือนเราหิ้วของหนักมากขึ้น และหิ้วอยู่ตลอดเวลา ก็จะเป็นภาระให้เหนื่อย เมื่อยล้า จนเกินกำลังของข้อเข่า ทำให้เกิดการปวดและอักเสบได้ จนในที่สุดก็เกิดการเสื่อมสภาพของข้อเข่าได้
การใช้งานข้อเข่าหนักและนาน
อีกประเด็นหนึ่ง คือ เรื่องการใช้งานของข้อเข่า โดยเฉพาะการยืนนานๆ ที่พบในแม่ค้าพ่อค้าที่ต้องยืนค้าขายติดต่อกันนานๆ หรือผู้ที่ต้องยกของขึ้นบันไดเป็นจำนวนมาก แถมยังต้องแบกของหนัก เช่น ลูกหาบที่ช่วยยกของขึ้นภูเขา เป็นต้น การทำงานส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายจนเกินกำลังก็เป็นปัญหาให้เกิดการเหนื่อยเมื่อยล้า และเมื่อดำเนินการอย่างต่อเนื่องก็อาจเกินกำลัง ทำให้เกิดการปวดและอักเสบได้ จนในที่สุดก็เกิดการเสื่อมสภาพของข้อเข่าได้ นอกจากนี้ ในบางรายอาจเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การหกล้ม เป็นต้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดการอักเสบของข้อเข่าได้ ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง การหลีกเลี่ยงการใช้งานหนัก การพัก การประคบด้วยน้ำอุ่น หรือการสวมใส่ผ้ายางยืดรัดข้อเข่า ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบข้อเข่าได้ดีเช่นกัน นอกจากนี้การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ และการทำกายภาพบำบัดก็ช่วยเสริมความแข็งแรงของข้อเข่าได้อย่างดี ในรายที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นๆ เรื่อยๆ อาจทำให้ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมี ๒ วิธีหลักๆ คือ การใช้ยาและการผ่าตัด
การใช้ยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
ในด้านการใช้ยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อม มี ๓ กลุ่มใหญ่ คือ NSAIDs, COX II inhibitors, และ glucosamine
ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (NSAIDs)
ยากลุ่ม NSAIDs (Non Steroidal Anti inflammatory Drugs หรือยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สตีรอยด์) ตัวอย่างเช่น แอสไพริน (aspirin) ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ไดโคลฟีแนก (diclofenac) ไพร็อกซีแคม (piroxycam) เป็นต้น ยากลุ่มนี้เป็นยาที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและอาการอักเสบได้ดี แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ เพราะอาจเกิดการระคายเคืองกระเพาอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีผลกดการทำงานของไต ทำให้ร่างกายมีน้ำคั่งอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดการบวมน้ำและความดันเลือดสูงขึ้น และยังไปยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ทำให้เมื่อเกิดแผลแล้วเลือดไหลหยุดยาก ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ยากลุ่มนี้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดหรืออักเสบเท่านั้น โดยให้กินหลังอาหารทันที เพื่อช่วยลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ควรหยุดยา หรือถ้าจะใช้ต่อเนื่องกันควรอยู่ภายใต้การดูแลสั่งจ่ายของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งยังควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่เป็นหรือมีประวัติการเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร (peptic ulcer) ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคเลือด เป็นต้น
ยายับยั้งเอนไซม์คลอออกซิเจน เนส-๒ (COX II inhibitors)
เพื่อลดอาการอันไม่พึงประสงค์ของยากลุ่ม NSAIDs จึงมีความพยายามในการวิจัยและพัฒนายากลุ่มใหม่ที่มีผลข้างเคียงลดน้อยลง คือ ยากลุ่ม COX II inhibitors ตัวอย่างเช่น เซเลค็อกซิบ (celecoxib), โรเฟ็กค็อกซิบ (rofecoxib) เป็นต้น ซึ่งทางทฤษฎีเชื่อว่ามีผลข้างเคียงต่อการระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่ายากลุ่มเดิม แต่เมื่อมีการใช้ยากลุ่มใหม่นี้มากขึ้น ก็พบอาการอันไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด จนเป็นเหตุให้บริษัทผู้ผลิตถอนยาโรเฟ็กค็อกซิบออกจากตลาดไป (เลิกจำหน่าย) พร้อมทั้งเพิ่มคำเตือนเกี่ยวกับอาการอันไม่พึงประสงค์ของยาที่ยังมีจำหน่ายอยู่ในตลาดให้ระวังเรื่องนี้มากขึ้น
ยากลูโคซามีน (Glucosamine)
ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์บำรุงกระดูกอ่อน และลดการเสื่อมของเนื้อเยื่อข้อเข่า ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณ ๑ - ๑ ๑/๒ เดือน จึงจะได้ผลดี
ยาชุด
ยาอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมมากในชนบท คือ ยาชุดแก้ปวดข้อ ที่มีการบรรจุยาหลายชนิด ๓-๕ เม็ดในซองเดียวกัน เพื่อให้กินทั้งหมดครั้งเดียวพร้อมกันเป็นชุด ซึ่งมักประกอบด้วยยาแก้ปวด แก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาคลายกังวล ยาสตีรอยด์ เป็นต้น การใช้ยาชุดนี้มีอันตรายมากถ้ามีการใช้ติดต่อกันนานๆ (โรคข้ออักเสบ เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องใช้ติดต่อกันนานๆ) โดยเฉพาะยาสตีรอยด์ ถ้ามีการใช้ติดต่อกันมากกว่า ๗-๑๔ วัน ยานี้จะไปกดการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญของร่างกาย เช่น ไต ภูมิคุ้มกัน เยื่อบุกระเพาะอาหาร เป็นต้น เมื่อไตทำงานน้อยลง น้ำก็จะสะสมในร่างกายมากขึ้น ทำให้ตัวบวมน้ำ ความดันเลือดสูงขึ้น และเมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ร่างกายก็จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาชุดที่จัดรวมอยู่ในซองเดียวกันจำหน่ายในร้านยาหรือร้านชำทั่วไป เพราะมีอันตรายมาก
การผ่าตัด
ในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์มีการคิดค้นการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการส่องกล้อง และการเปลี่ยนข้อเทียม ซึ่งในการส่องกล้องเข้าไปในข้อเข่าเหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มเป็นไม่มาก ส่วนในรายที่ข้อเข่าเสื่อมสภาพมากแล้ว ควรได้รับการเปลี่ยนข้อเทียมซึ่งได้ผลดีทั้ง ๒ กรณี
สรุป
ถึงตอนนี้ก็คงได้ความรู้เรื่องปวดหัวเข่าอันเกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อมพอสมควร และคงตอบปัญหาตั้งแต่ตอนต้นได้ว่า โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ไม่หายขาด การดูแลรักษา ข้อเข่าให้คงสภาพการใช้งานได้อย่างดี ให้นานที่สุด อยู่คู่ อายุขัย ไม่เสื่อมสภาพก่อนวัยอันควรนั้น เป็นทางที่ดีที่สุด ปัจจัยหลัก คือการใช้งานของข้อเข่า เมื่อใดที่ทำงานแล้วมีอาการเมื่อยล้าหรือเริ่มปวดก็ควรพัก พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง อันได้แก่ น้ำหนักตัวมาก ยกของหนัก นั่งพับเพียบ นั่งยองๆ ขึ้นบันไดมากๆ เป็นต้น และควรเสริมสร้างความแข็งแรงด้วยการออกกำลังกายบริหารข้อเข่าและกินแคลเซียมอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้ามีอาการปวดและอักเสบร่วมด้วย อาจบรรเทาด้วยยากลุ่ม NSAIDs หรือ COX II inhibitors เพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบโดยการกินหลังอาหารทันที เมื่อใดที่อาการดีขึ้นแล้วควรหยุดยา ส่วนยากลูโคซามีนเป็นยาบำรุงกระดูกอ่อนที่ต้องใช้เวลาประมาณ ๑ - ๑ ๑/๒ เดือนก่อนที่จะเห็นผล และที่สำคัญไม่ควรซื้อยาชุดที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปในร้านชำ เพราะอาจเกิดอันตรายรุนแรงได้ ในกรณีที่จำเป็นควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง และอาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดในรายที่จำเป็น