หน่วยไต (glomerulus) เป็นหน่วยเล็กๆ ที่กระจายอยู่ในเนื้อไต ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑ ล้านหน่วยในไตแต่ละข้าง ทำหน้าที่กรองน้ำและของเสียออกมาเป็นปัสสาวะ หากเกิดการอักเสบ ร่างกายก็ขับปัสสาวะออกได้น้อย มีของเสียคั่งอยู่ในเลือด รวมทั้งมีเม็ดเลือดแดงและสารไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการบวมทั้งตัว และปัสสาวะออกมาเป็นสีแดง
โรคนี้พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า ๕-๑๐ ขวบ มักพบหลังเป็นทอนซิลอักเสบ หรือแผลพุพองที่ผิวหนัง หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็มักจะหายได้เป็นส่วนใหญ่
► ชื่อภาษาไทย
หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน
► ชื่อภาษาอังกฤษ
Acute glomerulonephritis (AGN)
► สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (beta-hemolytic streptococcus group A) เช่น ทอนซิลอักเสบ แผลพุพอง ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น เมื่อเกิดการติดเชื้อชนิดนี้ (ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ย่อย) ร่างกายก็จะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ซึ่งนอกจากทำลายเชื้อโรคชนิดนี้แล้ว ยังไปมีปฏิกิริยาต่อหน่วยไต ทำให้หน่วยไตอักเสบ จัดว่าเป็นโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune) ชนิดหนึ่ง ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า หน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหลังติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส (poststreptococcal AGN) โรคนี้พบบ่อยในเด็กอายุ ๕-๑๐ ขวบ ซึ่งมักพบหลังติดเชื้อในคอ (ทอนซิลอักเสบ) ๑-๒ สัปดาห์ และหลังติดเชื้อที่ผิวหนัง ๓-๔ สัปดาห์ อาจพบได้ประมาณร้อยละ ๑๐-๑๕ ของเด็กที่ติดเชื้อดังกล่าวและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ หน่วยไตอักเสบเฉียบพลันยังอาจเกิดร่วมกับโรคอื่น เช่น เอสแอลอี ซิฟิลิส การแพ้สารเคมี (เช่น ตะกั่ว) เป็นต้น
► อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับอาการบวมทั้งตัว (หนังตาบวม หน้าบวม ท้องบวม เท้าบวม ๒ ข้าง) และปัสสาวะออกมาเป็นสีแดงเหมือนน้ำล้างเนื้อหรือน้ำหมาก
ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีอาการปัสสาวะออกน้อย หอบเหนื่อย หรือชัก
อาจมีประวัติว่ามีอาการเจ็บคอ (ทอนซิลอักเสบ) หรือเป็นแผลพุพอง หรือผิวหนังอักเสบมาก่อนสัก ๑-๔ สัปดาห์
► การแยกโรค
อาการบวมทั้งตัว อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
♦ โรคไตเนโฟรติก (nephritic syndrome) ซึ่งเป็นโรคไตอักเสบชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกมาทางปัสสาวะ เนื่องเพราะความผิดปกติของหน่วยไต ผู้ป่วยจะมีอาการบวมทั้งตัว แต่ปัสสาวะออกมากและไม่มีไข้
♦ ภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) ผู้ป่วยจะมีอาการเท้าบวม ๒ ข้าง และหายใจหอบเหนื่อย นอนราบ (หนุนหมอนใบเดียว) ไม่ได้เพราะรู้สึกแน่น อึดอัด หายใจลำบาก
♦ ภาวะขาดอาหาร เด็กที่ขาดอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน จะมีอาการบวมทั้งตัว โดยที่ถ่ายปัสสาวะเป็นปกติ
ส่วนปัสสาวะออกเป็นสีแดง อาจเกิดจากโรคนิ่วในไต หรือเนื้องอกในไต ซึ่งมักจะไม่มีอาการบวมหรือมีไข้ร่วมด้วย
► การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการบวมและปัสสาวะแดง ร่วมกับมีประวัติการติดเชื้อในคอหรือผิวหนังมาก่อน การตรวจร่างกายมักพบว่ามีไข้สูง ความดันเลือดสูง
แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยโรคโดยการตรวจปัสสาวะ (พบเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาวปริมาณมากกว่าปกติ และพบสารไข่ขาว) ตรวจเลือด (อาจพบสารบียูเอ็นและครีอะตินีนสูง ซึ่งบ่งบอกว่าไตขับของเสียไม่ได้เต็มที่)
บางรายอาจจำเป็นต้องถ่ายภาพไตด้วยรังสี (เอกซเรย์) หรืออัลตราซาวนด์ หรือทำการตรวจชิ้นเนื้อไต
► การดูแลตนเอง
เมื่อพบว่ามีอาการบวม หรือปัสสาวะสีแดง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
หากพบว่าเป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน ก็ควรรับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์จนกว่าจะหายขาด
ในรายที่มีอาการบวม หรือความดันเลือดสูง ก็ควรงดอาหารเค็ม
► การรักษา
แพทย์มักจะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยารักษาตามภาวะที่พบ เช่น
♦ ถ้ามีประวัติการติดเชื้อในคอหรือผิวหนัง ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนิซิลลินวี หรืออีริโทรไมซิน
♦ ให้ยาขับปัสสาวะ ลดบวม
♦ ให้ยาลดความดัน ถ้าพบว่ามีความดันเลือดสูง
♦ ให้ยาแก้ชัก ในรายที่มีอาการชัก
♦ ทำการล้างไต (dialysis) ในรายที่มีภาวะไตวายรุนแรง
► ภาวะแทรกซ้อน
ในรายที่มีความดันเลือดสูงรุนแรง อาจเกิดอาการทางสมอง เช่น ชัก ไม่ค่อยรู้สึกตัว
บางรายอาจพบภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ทำให้มีอาการหายใจหอบเหนื่อย
บางรายอาจมีภาวะไตวายเฉียบพลัน หรือไตวายเรื้อรังตามมาได้
► การดำเนินโรค
หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่จะหายได้ อาการทั่วไปจะดีขึ้นภายใน ๒-๓ สัปดาห์ แต่ควรตรวจปัสสาวะบ่อยๆ ต่อไปอีกหลายเดือน
ประมาณร้อยละ ๒ อาจกลายเป็นหน่วยไตอักเสบเรื้อรัง
ในรายที่เป็นรุนแรง หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ประมาณร้อยละ ๒ อาจเสียชีวิตได้
บางรายแม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว เมื่ออายุมากขึ้น อาจกลายเป็นโรคความดันเลือดสูง หรือเกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้
► การป้องกัน
สำหรับหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหลังติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส สามารถป้องกันได้ โดยการรักษาโรคติดเชื้อในคอ (ทอนซิลอักเสบ) หรือผิวหนัง (แผลพุพอง ผิวหนังอักเสบ) ด้วยยาปฏิชีวนะให้ครบตามกำหนด เช่น ให้เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน นาน ๑๐ วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุ ๕-๑๐ ขวบ
► ความชุก
หน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหลังติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส พบได้บ่อยในเด็กอายุ ๕-๑๐ ขวบ