ชักจากไข้
จะมีอาการเป็นไข้ (ตัวร้อน) ร่วมกับอาการของโรคที่เป็นสาเหตุของอาการไข้ เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ ไอ ท้องเดิน เป็นบิด เป็นต้น (ในรายที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ส่าไข้ ก็อาจมีไข้สูง โดยไม่มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยก็ได้) แล้วต่อมาจะมีอาการชักแบบกระตุกทั้งตัว ตาค้าง กัดฟัน กัดลิ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมอาการตัวร้อนในวันแรก หรือในวันหลังๆ ก็ได้ โดยทั่วไปจะชักนานครั้งละ 2-3 นาที (เต็มที่ไม่เกิน 15 นาที) ก็จะหยุดชักไปเอง หลังหยุดชัก เด็กจะฟื้นคืนสติเป็นปกติ ไม่ซึม ไม่มีอาการแขนขาอ่อนแรง และมักจะไม่ชักซ้ำอีกในการเจ็บป่วยครั้งนั้น บางคนเมื่อเว้นไปนานหลายเดือนหรือเป็นปี อาจมีไข้และชักซ้ำเหมือนเดิมอีก ลักษณะการชักดังกล่าว ภาษาแพทย์เรียกว่า "อาการชักจากไข้ชนิดไม่ซับซ้อน (simple febrile convulsion)" ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่มีอันตรายอะไร บางคนอาจเป็นชนิดรุนแรง ดังที่ภาษาแพทย์เรียกว่า "อาการชักจากไข้ชนิดซับซ้อน (complex febrile convulsion)" กล่าวคือ จะมีอาการชักเพียงซีกใดซีกหนึ่ง หรือเฉพาะที่แขนขาข้างใดข้างหนึ่ง แต่ละครั้งชักนานเกิน 15 นาที หรือมีอาการชักเกิดขึ้นซ้ำภายใน 24 ชั่วโมงหรือในการเจ็บป่วยครั้งนั้นๆ หรือภายหลังการชักอาจมีอาการซึมหรือ แขนขาอ่อนแรง ถ้ามีอาการชักต่อเนื่องนานเกิน 30 นาที หรือชักสั้นๆ แต่เป็นหลายครั้งติดๆ กันในระยะใกล้กันมาก โดยที่ระหว่างการหยุดชักช่วงสั้นๆ แต่ละครั้งเด็กไม่ได้ตื่นขึ้นมาเป็นปกติ รวมเวลานานเกิน 30 นาที เรียกว่า "อาการชักจากไข้ชนิดต่อเนื่อง (febrile status epilepticus)"
การดำเนินโรค
เด็กที่เคยมีอาการชักจากไข้มาครั้งหนึ่งแล้วมักจะไม่ชักซ้ำอีก มีโอกาสชักซ้ำประมาณร้อยละ 30-40 โดยทั่วไป
เพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่อาจชักซ้ำเกิน 3 ครั้ง และเมื่อพ้นอายุ 5 ขวบ อาการชักจากไข้มักจะหายไปได้เอง
ภาวะแทรกซ้อน
อาการชักจากไข้ส่วนใหญ่ เป็นภาวะที่ไม่รุนแรงและไม่เป็นอันตรายต่อสมอง มีอัตราตายต่ำมาก (แม้จะเป็นอาการชักจากไข้ชนิดต่อเนื่อง คือชักนานเกิน 30 นาทีก็ตาม) รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อระดับเชาวน์ปัญญาของเด็ก มีเพียงร้อยละ 2-10 ของเด็กที่ชักจากไข้ อาจเกิดโรคลมชักตามมาในภายหลัง (พบว่าร้อยละ 15 ของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคลมชัก มีประวัติเคยมีอาการชักจากไข้ในสมัยเด็กมาก่อน)
กลุ่มที่อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมชักตามมา มักมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- มีประวัติว่าพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเป็นโรคลมชัก
- ผู้ป่วยมีความผิดปกติของระบบประสาทและสมองก่อนหน้าที่จะมีอาการชักจากไข้
- มีอาการชักจากไข้ชนิดซับซ้อน
- มีอาการชักจากไข้เกิดขึ้นภายในเวลาสั้นหลังมีไข้
- มีอาการชักจากไข้บ่อยครั้ง (ซึ่งก็เพิ่มโอกาสของการเกิดโรคลมชักมากกว่าคนปกติเพียงเล็กน้อย)
การแยกโรค
อาการชักร่วมกับเป็นไข้ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- โรคติดเชื้อของสมอง (เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง เป็นต้น) จะมีไข้ ปวดหัว อาเจียน ซึม เพ้อ ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชักต่อเนื่องกันนานหรือเกือบตลอดเวลา หรือหมดสติ
- บาดทะยัก จะมีไข้ ขากรรไกรแข็ง (อ้าปาก ลำบาก ทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ) ชักกระตุกเป็นพักๆ เฉพาะเวลาที่สัมผัสถูกตัว ถูกแสงจ้าๆ หรือเสียงดัง มักมีบาดแผลตามผิวหนัง เช่น ตะปูตำ หนามเกี่ยว
- พิษสุนัขบ้า จะมีไข้ร่วมกับอาการกลัวลม กลัวน้ำ กระสับกระส่าย ชัก ไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือหมดสติ มักมีประวัติถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน ภายใน 1-3 เดือน (บางคนอาจนานเป็นปี)
- โรคลมชัก (ลมบ้าหมู) เด็กที่เป็นโรคลมชัก เวลามีไข้ขึ้นก็อาจเกิดอาการชักได้ บางคนอาจมีประวัติเคยเป็นโรคลมชักมาก่อน
หากสงสัยว่าเป็นจากสาเหตุข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ก็ควรรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
- อ่าน 10,828 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้