ไข้หวัดนก
ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ เริ่มด้วยอาการไข้สูง (ตัวร้อนจัด) หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั้งตัว อ่อนเพลียมาก เจ็บคอ ไอแห้งๆ คัดจมูก น้ำมูกไหล และอาจมีอาการตาแดงร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเดินร่วมด้วย
ในรายที่เป็นรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ) อาจมีโรคปอดอักเสบ (ปอดบวม) แทรกซ้อน เกิดอาการหายใจลำบาก หายใจหอบ
ในรายที่เป็นไม่รุนแรง และไม่มีโรคแทรกซ้อน ก็จะหายได้เองภายใน 2-7 วัน บางคนอาจมีการติดเชื้อไข้หวัดนก โดยไม่เกิดอาการเจ็บป่วยก็ได้
การดำเนินโรค
ในรายที่มีอาการเล็กน้อย ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนมักจะหายได้เองภายใน 2-7 วัน แต่ถ้ามีโรคปอดอักเสบ หรือกลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันแทรกซ้อน ก็อาจเสียชีวิตได้รวดเร็ว
ไข้หวัดนกที่เป็นรุนแรง มักเกิดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
ภาวะแทรกซ้อน
ที่ร้ายแรงก็คือ ปอดอักเสบ (ปอดบวม) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบ และกลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
การแยกโรค
อาการไข้สูง เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ ควรแยกจากสาเหตุอื่น เช่น
- ไข้หวัดธรรมดา จะมีไข้เป็นพักๆ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ แต่จะไม่ปวดเมื่อยมาก มักมีไข้อยู่นาน 2-4 วัน
- ไข้หวัดใหญ่จากเชื้อสายพันธุ์อื่น จะมีอาการแบบเดียวกับไข้หวัดนก คือ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ
- หัด จะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร น้ำมูกไหล ไอมาก หลังมีไข้ 3-4 วันจะมีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า ลำตัว แขน ขา มักมีไข้สูงอยู่ 1 สัปดาห์ แล้วทุเลาได้เอง ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการหอบ (ปอดบวม) ท้องเดิน หรือชัก (สมองอักเสบ)
- ทอนซิลอักเสบ จะมีไข้สูง เจ็บคอ ตรวจพบทอนซิลบวมแดงหรือเป็นหนอง
- ปอดอักเสบ (ปอดบวม) จะมีไข้สูง เจ็บหน้าอก หายใจหอบ ไอมีเสลดออกเป็นหนอง
อย่างไรก็ตาม ถ้าพบผู้ที่มีอาการไข้สูง เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรืออยู่ในบ้านที่มีการเลี้ยงไก่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนก ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว ถ้าตรวจพบว่าเป็นไข้หวัดนกจะได้รีบรักษาเสียแต่เนิ่นๆ
- อ่าน 11,387 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้