Q : อยากเรียนถามว่าการตรวจสีโดยแพทย์ทั่วไปควรใช้การตรวจวิธีใด และคนตาบอดสีจะทำให้มีปัญหากับการทำงานหรือไม่
ณัฐ นพคุณ
A : ภาวะตาบอดสี หรือ color deficiencies ผู้ป่วยจะเห็นสีที่ผิดไปจากคนปกติ เพราะ cone cell ที่ทำหน้าที่รับสีใดสีหนึ่งหรือหลายสีทำงานผิดปกติหรือขาดหายไป ที่พบบ่อยคือชนิดเป็นแต่กำเนิด (congenital) คือ sex-linked red-green deficiencies พบได้ร้อยละ 8 ในประชากรชาย และร้อยละ 0.5 ในประชากรหญิง ซึ่งจะเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้าง. สำหรับภาวะตาบอดสีที่เป็นภายหลัง (acquired) อาจเกิด ได้จากโรคต่างๆของจอประสาทตาหรือ optic nerve ซึ่งอาจเป็นตาเดียว หรือที่ตาทั้ง 2 ข้างก็ได้ ซึ่งภาวะตาบอดสีอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือกิจกรรมบางประเภท เช่น นักคอมพิวเตอร์กราฟฟิก, การสอบใบขับขี่, คนงานโรงงานอุตสาหกรรม, นักเคมี, ทหารและตำรวจ รวมทั้งการเข้าศึกษาต่อในสาขาแพทย์และทันตแพทย์ ในกรณีที่มีปัญหาตาบอดสีขั้นรุนแรง.
วิธีทดสอบตาบอดสีมีหลายวิธี วิธีที่นิยมใช้ คือ Ishihara test เป็นการตรวจคร่าวๆ อาศัยการแยกสีเขียวและสีแดง ประกอบด้วยแผ่นภาพ 24 แผ่น มีข้อดีคือ ทดสอบได้ง่าย ใช้เวลาน้อย ใช้ได้ดีในรายตาบอดสีชนิด congenital เพราะเป็น red green defect. ข้อเสียคือ มีความไวน้อยและไม่มีประโยชน์ในตาบอดสีชนิด acquired เพราะมักเป็น blue- yellow defect.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อ่าน 7,836 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้