• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิทธิปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต


ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่สามารถรักษาในอดีต ทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้น แต่ความตายเป็นสัจธรรมของชีวิต เมื่อผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะใกล้ตายหรือ วาระสุดท้ายแล้ว การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ยื้อชีวิตจึงเป็นเพียงการยืดกระบวนความตายออกไป (prolongation of the dying process) เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยแต่อย่างใด เพราะผู้ป่วยไม่อาจฟื้นคืนดีได้และต้องตายในที่สุด บางรายอาจมีชีวิตอย่างผักอีกหลายปีไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้ป่วยและญาติหลายรายต้องหมดเนื้อหมดตัวต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองที่เก็บออมมาตลอดชีวิตเพื่อรักษาคนที่เรารักและเคารพ      โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องรับภาระดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ นับเป็นการสูญเสียทรัพยากร ในระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ อีกทั้งยังจำกัดโอกาสในการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยรายอื่นโดยอ้อมด้วย


แพทยสมาคมโลก (World Medical Association) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และหลายประเทศ จึงมี   นโยบายหรือกฎหมายที่รับรองสิทธิของผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือคนใกล้ตายที่จะตายอย่างมีศักดิ์ศรี ตายอย่างสงบ เพื่อให้สามารถทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาในขณะที่ผู้นั้นยังมีสติสัมปชัญญะ ดีอยู่ที่เรียกว่า " living will  "หรือ  " advance directive" ได้ เพื่อให้ญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิด ปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้ทำหนังสือในขณะที่ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต กรณีนี้ต่างจากการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตาย ยูธานาเซียหรือการุณยฆาต (mercy killing) เพราะมิได้เร่งการตาย ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลรักษาตามอาการ เพื่อให้รู้สึกสบาย บรรเทาความปวด ทุกข์ทรมาน ช่วยให้จากไปอย่างสงบตามธรรมชาติ ไม่ต้องใช้เครื่องมือช่วยชีวิตหรือการรักษาที่ไม่จำเป็นหรือไม่มีประโยชน์      


ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยกร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งระบุหลักเกณฑ์ วิธีการปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาข้างต้น โดยผ่านการรับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งแพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย สภาวิชาชีพ สถาบันการศึกษา ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง และอยู่ระหว่างเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป    

 

" มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
 การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง  เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง "