Disclaimer : รายงานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์มีมากมายมหาศาล ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง คอลัมน์นี้ได้สรุปรายงานการศึกษาที่น่าสนใจที่ลงในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่าน peer review มาให้สมาชิกทราบ แต่ข้อพึงระวังคือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่มีการรายงานการศึกษาจะมีความถูกต้องเป็นสัจจะ เพราะไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางการแพทย์ ความรู้ ความเชื่อ ณ วันนี้อาจได้การยอมรับ แต่ความรู้ใหม่ๆ ในวันหน้าก็สามารถลบล้างความรู้ ความเชื่อในวันนี้ได้เช่นกัน.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
กินอาหารเค็มน้อยลง ลดโรคหัวใจและหลอดเลือด
Cook NR, et al. Long term effects of dietary sodium reduction on cardiovascular disease outcomes : observational follow-up of the trials of hypertension prevention (TOHP). BMJ 20 April 2007.
เคยมีการวิจัยพบว่าการกินอาหารจืด (ลดเกลือโซเดียม) ทำให้ความดันเลือดลดลง แต่ถ้าถามว่าทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงด้วยหรือไม่ยังไม่เคยมีข้อสรุปจากการวิจัยแบบ randomised trial.
นักวิจัยกลุ่มหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงศึกษาติดตามคนที่อยู่ในการศึกษา TOHP I และ TOHP II ซึ่งก่อนหน้านี้พบว่าการกินอาหารเค็มน้อยลงมีผลลดระดับความดันเลือดได้ จึงติดตามอาสาสมัครที่อยู่ในการศึกษาเหล่านี้ต่อไปอีก 10-15 ปี.
การศึกษา TOHP I มีอาสาสมัครรวม 744 คน อายุ 30-54 ปี เป็นคนที่ยังไม่มีความดันเลือดสูง สุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มแรกสอนให้เลือกกินอาหารเกลือโซเดียมต่ำ ลดน้ำหนักตัว แนะวิธีการจัดการความเครียด เป็นเวลา 18 เดือน และกลุ่มที่สองให้กินอาหารตามปกติที่เคยกิน (ไม่ได้ลดเกลือเป็น พิเศษ) แต่แพทย์ผู้ดูแลได้แนะแนวทางกว้างๆ เกี่ยวกับอาหารสุขภาพ.
ส่วนการศึกษา TOHP II มีอาสาสมัครทั้งหมด 2,382 คน อายุ 30-54 ปี ที่ไม่มีภาวะความดันเลือดสูงมาก่อน สุ่มแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มลดน้ำหนักอย่างเดียว กลุ่มลดเกลืออย่างเดียว และกลุ่มที่ลดทั้งน้ำหนัก และลดเกลือ เป็นเวลา 36-48 เดือน และกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มควบคุม ซึ่งการศึกษา TOHPII นี้ก็พบว่าการลดอาหารเค็มช่วยลดอุบัติการณ์ความดันเลือดสูงได้มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ การติดตามอาสาสมัครที่อยู่ในการศึกษาทั้งสองนี้ไปเป็นเวลา 10-15 ปีต่อมา พบว่ากลุ่มที่ลดการกินเกลือ ในการศึกษา TOHPI, TOHPII สามารถลดการกินเกลือลง 44 มล.โมล (= 2.6 กรัม) ต่อวัน และ 33 มล.โมล (= 2 กรัม) ต่อวัน ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มที่กินเกลือน้อยลงนี้ ปรากฏว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงร้อยละ 25-30 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม.
การศึกษานี้นับเป็นการศึกษาแบบ randomised control แรกที่แสดงให้เห็นประโยชน์ของการลด เกลือในอาหารต่อการลดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด.
- อ่าน 3,757 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้