Disclaimer : รายงานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์มีมากมายมหาศาล ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง คอลัมน์นี้ได้สรุปรายงานการศึกษาที่น่าสนใจที่ลงในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่าน peer review มาให้สมาชิกทราบ แต่ข้อพึงระวังคือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่มีการรายงานการศึกษาจะมีความถูกต้องเป็นสัจจะ เพราะไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางการแพทย์ ความรู้ ความเชื่อ ณ วันนี้อาจได้การยอมรับ แต่ความรู้ใหม่ๆ ในวันหน้าก็สามารถลบล้างความรู้ ความเชื่อในวันนี้ได้เช่นกัน.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
ฝึกแขนอัมพฤกษ์โดยรัดแขนดี ในผู้ป่วยหลัง stroke
Wolf SL, et al. Effect of constraint-induced movement therapy on upper extremity function 3 to 9 months after stroke: the EXCITE randomized clinical trial. JAMA November 1, 2006;296:2095-104.
ในสหรัฐอเมริกากว่าร้อยละ 50-75 ของผู้ป่วยที่รอดจาก stroke ยังไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนข้างเป็นอัมพฤกษ์ได้อย่างปกติ. วิธีรักษาคือการฝึกบริหารเคลื่อนไหวแขนข้างนั้นซ้ำๆ จะทำให้แขนขยับได้ดีขึ้น มีการศึกษาหนึ่งพบว่าการรักษาโดยจำกัดการเคลื่อนไหวของแขนข้างปกติ (CIMT) สักระยะหนึ่งทำให้การเคลื่อนไหวแขนข้างผิดปกติดีขึ้น. Wolf และคณะวิจัยซ้ำ โดยทำ single-blind randomised trial ในผู้ป่วยหลัง stroke ให้จำกัดการเคลื่อนไหวมือและนิ้วของแขนข้างที่ดี.
งานวิจัยนี้ร่วมกันระหว่างหลายโรงพยาบาล ผู้ป่วยหลัง stroke ครั้งแรกที่เป็นมานาน 3-9 เดือน จำนวน 222 คน วิธีการรักษาที่ถูกประเมินคือ ชุดรัดการเคลื่อนไหวของมือและนิ้วข้างที่ดี โดยให้ผู้ป่วยสวมประมาณร้อยละ 90 ของเวลาหลังจากตื่นนอนตอนเช้า โดยที่ยังคงเคลื่อนไหวยืนทรงตัวได้ แล้วฝึกบริหารมือและนิ้วข้างอัมพฤกษ์ซ้ำๆ วันละ 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ นักวิจัยเลือกผู้ป่วย และสุ่มให้อยู่ในกลุ่มทดลอง 106 คน กลุ่มควบคุม 116 คน หลังสุ่มผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีลักษณะทางคลินิกคล้ายกัน กลุ่มควบคุม ได้รับการรักษาตามปกติ. ตัวชี้วัดผลคือ การทดสอบความไว ความแข็งแรงและการเคลื่อนไหว องกล้ามเนื้อ โดยใช้วิธีทดสอบเรียก Wolf Motor Function test (WMFT), และการประเมินโดย ผู้ป่วยเองหรือผู้ดูแลว่าทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ดีแค่ไหน โดยแบบประเมิน Motor Activity Log (MAL) การประเมินผลวิจัยทำหลังการรักษาทันที และที่ 4, 8, และ 12 เดือน.
หลังการรักษากลุ่มทดลอง มีการเคลื่นไหวของแขนดีกว่ากลุ่มควบคุม และหลังการรักษาที่ 12 เดือนกลุ่มทดลองยังมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้นกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการวัดด้วย WMFT และการประเมินคุณภาพของการเคลื่อนไหว (MAL) ก็ดีกว่าด้วย.
สรุป การรักษาด้วยวิธีการจำกัดการเคลื่อนไหวของแขนข้างที่ดีและฝึกกายภาพแขนข้างอัมพฤกษ์ ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ผลดีกว่าการรักษาทั่วไป.
- อ่าน 5,520 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้