Q อยากทราบว่าในคนปกติจำเป็นต้องไปตรวจสุขภาพตาเป็นประจำหรือไม่ หรือในกรณีใดจึงต้องไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตา
รัชดาภรณ์ ตันติมาลา
A การตรวจสุขภาพตาจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถตรวจพบความผิดปกติของตาได้ตั้งแต่ในระยะต้น ซึ่งอาจสามารถทำให้ได้รับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อปล่อยให้เป็นโรคตาในระยะรุนแรง แนวทางการตรวจสุขภาพตาที่แนะนำได้แก่
- สังเกตลูกของเราด้วยตัวเราเอง ถ้ามีลักษณะลูกตาผิดปกติ ตาเข หรือเด็กไม่จ้องหน้า มองกระดานไม่ชัด ชอบหยีตามองหรือเอียงคอมอง และในเด็กเล็กควรทดสอบใช้มือบังตาเด็กทีละข้าง (ไม่ต้องถูกตาเด็ก) ถ้าเด็กปัดหรือร้องเวลาบังตาข้างใดข้างหนึ่งเสมอ อาจเกิดจากตาอีกข้างที่เปิดอยู่มองไม่เห็น กรณีมีข้อสงสัยเหล่านี้ ควรพาไปพบจักษุแพทย์
- ถ้ามีอาการตามัวลง หรือตาแดง หรือปวดตา ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อการตรวจตาหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง
- ผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันลูกตาอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อเฝ้าระวังโรคาต้อหิน โดยเฉพาะผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นต้อหิน เพราะบางคนอาจเป็นต้อหินได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษาเป็นเวลานานจะทำให้สายตาเสื่อมลงหรือบอดได้ และรักษาให้สายตากลับคืนมาไม่ได้ด้วย
- ผู้ที่เป็นต้อหินต้องหยอดยาตามแพทย์สั่งและไปตรวจตามแพทย์นัด อย่าขาดการรักษาเพราะต้อหินเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วตาจะบอดได้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน ควรตรวจจอประสาทตาเพื่อดูว่ามีเบาหวานขึ้นตาหรือไม่ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่พบว่าเป็นเบาหวาน รวมทั้งคนเป็นเบาหวานที่ตั้งครรภ์ต้องไปตรวจจอประสาทตาทันที ถ้าพบมีเบาหวานขึ้นตามาก การยิงเลเซอร์ที่จอประสาทตาอาจจะช่วยให้ในระยะยาวมีสายตาที่ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้ยิงเลเซอร์ แต่ไม่ได้ทำให้สายตาเห็นชัดขึ้น ที่สำคัญคือควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขึ้นตาได้ดี
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โรคแผลในกระเพาะ
Q พี่ชายอายุ 55 ปี ปวดท้องเหมือนเป็นโรคกระเพาะ ไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ส่องกล้องแล้ว แพทย์บอกว่ามีแผลในกระเพาะ ต้องกินยาฆ่าเชื้อและยาลดกรด กินยามาได้สองสัปดาห์แล้ว อาการดีขึ้น แต่แพทย์บอกว่าให้ไปส่องกล้องดูอีกที อยากเรียนถามว่า ถ้าอาการดีขึ้นแล้ว ไม่ต้องไปได้หรือไม่คะ และต้องกินยานานแค่ไหนแผลในกระเพาะถึงจะหาย?
ปิยะดา พูลสวัสดิ์
A ปัญหาของการรักษาแผลในกระเพาะที่ แพทย์ทางระบบทางเดินอาหาร หรือศัลยแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยกังวล ก็คือ ต้องแยกให้ได้ว่าไม่มีแผลในกระเพาะอาหารที่มีลักษณะเหมือนกับมะเร็งกระเพาะอาหาร (gastric cancer) อยู่ด้วย นอกจากนี้แพทย์ผู้ดูแลจะซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผล และให้คำแนะนำเพื่อกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้แผลไม่หาย และตรวจหาโรคอื่นที่อาจมีอาการปวดท้องคล้ายโรคกระเพาะได้ เช่น นิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้วเมื่อแพทย์ผู้ดูแลบอกว่าเป็นแผลในกระเพาะ อาจพบแผลได้สองตำแหน่ง คือ แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcer) หรือแผลในกระเพาะอาหารจริงๆ (gastric ulcer) สำหรับแผลทั้งสองแห่งนี้ ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในกระเพาะอาหาร (Helicobacter pylori) ร่วมด้วย แพทย์ก็จะให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ร่วมไปกับยาลดกรด (H. pylori eradication) การที่แพทย์ให้ไปส่องกล้องตรวจซ้ำ ก็ด้วยเหตุผลสำคัญสองประการคือ
1. ต้องการดูให้แน่ใจจริงๆ ว่าแผลในกระเพาะอาหารนั้นดีขึ้น และมีลักษณะว่าแผลหายในเวลาอันเหมาะสม เพราะบางครั้งแผลไม่หายแต่ก็ไม่มีอาการได้ และ
2. สำหรับกลุ่มที่รักษาด้วยยาลดกรดแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์มักจะต้องตรวจชิ้นเนื้อที่ขอบแผลซ้ำ เพื่อดูให้แน่ใจว่าไม่ใช่แผลจากมะเร็ง
สำหรับแผลที่อยู่ที่ลำไส้เล็กส่วนต้น โดยทั่วไปไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง จึงไม่จำเป็นต้องส่องกล้องตรวจซ้ำเพื่อดูว่าแผลหายหรือไม่. ดังนั้นแพทย์จึงใช้อาการของผู้ป่วยเป็นหลักในการติดตามผลการรักษา ยกเว้นกรณีที่ไม่ดีขึ้น จึงจะพิจารณาส่องกล้องตรวจซ้ำ
ดังนั้นในกรณีนี้ แนะนำว่าคงต้องไปส่องกล้องตรวจซ้ำตามที่แพทย์ผู้ดูแลแนะนำ สำหรับการให้ยาลดกรดเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหาร จะให้ยานานประมาณ 4-8 สัปดาห์ครับ
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ.
ศัลยแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
- อ่าน 4,323 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้