• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กดาวน์ซินโดรม

เด็กดาวน์ซินโดรม


ผู้ถาม กาญจนา/ราชบุรี

ตอนตั้งครรภ์ดิฉันก็มีอาการปกติดีทุกอย่าง แต่แพ้ท้อง กินอะไรไม่ได้ พอลูกอายุได้ 4 ขวบ ก็ส่งให้เรียนหนังสือ จึงทราบว่าลูกทำอะไรไม่ได้

ดิฉันมีอาชีพรับราชการเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี เพื่อนครูที่โรงเรียนเป็นสมาชิกหนังสือหมอชาวบ้าน ในหนังสือฉบับเดือนสิงหาคมลงเรื่อง “เด็กดาวน์ซินโดรม” ซึ่งมีอาการตรงกับลูกสาวของดิฉัน คือ ลูกสาวมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติ ตอนตั้งครรภ์ดิฉันก็มีอาการปกติดีทุกอย่าง แต่แพ้ท้อง กินอะไรไม่ได้ สาเหตุที่ลูกเป็นดังกล่าวคงจะเนื่องมาจากเด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอ จนกระทั่งลูกคลอดออกมา พออายุได้ 4 ขวบ ดิฉันก็ส่งให้เรียนหนังสือ จึงทราบว่าลูกทำอะไรไม่ได้ เช่น มีความสนใจน้อยมาก นิสัยไม่อยู่กับที่ กล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรงเลย เขียนหนังสือไม่ได้ ดิฉันจึงพาแกไปหาหมอที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่ละครั้งคุณหมอไม่ได้แนะนำวิธีการที่จะฝึกปฏิบัติในด้านต่างๆ ให้ลูก ต่อมาดิฉันจึงไม่พาไป แต่พาไปหาหมอที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งเป็นเวลาหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายได้ทราบว่าไม่มียารักษาให้หายได้ แล้วต่อมาเมื่อลูกอายุได้ 12 ปี จึงพาแกไปตรวจเช็กไอคิว ดิฉันอยากได้คำแนะนำจากคุณหมอเกี่ยวกับเรื่องการรักษาทางกายภาพบำบัด สถานที่ที่ให้การรักษา หรือคุณหมอจะมีคำแนะนำที่ดีกว่านี้ก็ได้ค่ะ
 

ผู้ตอบ พ.ญ.พรสวรรค์ วสันต์

คุณมีลูกอายุ 12 ปี สงสัยว่าลูกเป็นเด็กกลุ่มอาการดาวน์ หรือเด็กดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) เนื่องจากมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กปกตินั้น ตั้งแต่ลูกคลอดจนอายุได้ 4 ปี เมื่อส่งไปเรียนหนังสือก็ทราบว่าลูกเรียนไม่ได้ และคุณก็ได้พาลูกไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งหลายครั้ง (หมอเข้าใจว่าคงประมาณ พ.ศ. 2523 ที่ลูกของคุณเกิด) แต่คุณหมอที่โรงพยาบาลไม่ได้แนะนำวิธีฝึกปฏิบัติด้านต่างๆ ให้ลูกคุณเลย คุณจึงพาไปที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง และทราบว่าโรคนี้ไม่มียารักษา

หมอขอเรียนว่าเมื่อ 12 ปีมาแล้วนั้น ที่โรงพยาบาลทั่วๆ ไปยังไม่มีการฝึกกระตุ้นพัฒนาการของเด็กกลุ่มอาการดาวน์ เพิ่งมีการฝึกกระตุ้นดังกล่าวเมื่อ 4-5 ปีมานี้เอง ดังนั้น ที่คุณแม่พาลูกไปโรงพยาบาลแห่งที่สองนั้นก็ถูกต้องแล้ว เมื่อเด็กทารกคลอดมาแล้วหากแพทย์สงสัยว่าเป็นกลุ่มอาการดาวน์หรือไม่นั้น แพทย์จะต้องตรวจโครโมโซมเพื่อวินิจฉัยว่า เป็นความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 หรือไม่ เมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยว่า เด็กมีอาการดาวน์ก็จะแนะนำให้คุณแม่พาลูกไปรับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็กให้แข็งแรง และเมื่ออายุได้ 15-18 เดือน แพทย์จะแนะนำให้ฝึกพูดด้วย นอกจากนั้นในช่วงอายุ 3 เดือนแรก แพทย์จะตรวจดูว่าลูกของคุณมีภาวะต่อมธัยรอยด์บกพร่องหรือไม่ มีความพิการของหัวใจแต่กำเนิดหรือไม่ เป็นต้น

พอลูกอายุได้ประมาณ 4-6 ปี แพทย์มักจะส่งตรวจเชาวน์ปัญญา (I.Q.) เพื่อดูระดับความสามารถของเด็กว่าจะให้เข้าเรียนในโรงเรียนปกติหรือโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ หมอใคร่ขอแนะนำให้คุณพาลูกไปพบหมอที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ (แผนกเด็ก) โรงพยาบาลศิริราช ในวันอังคารหรือวันพุธ เวลา 9.00-12.00 น. เพื่อหมอจะได้ตรวจวินิจฉัยและให้คำแนะนำต่างๆ หลายอย่างที่จะเป็นประโยชน์แก่ลูกคุณได้ค่ะ