ถาม : บุษกร/กรุงเทพฯ
ลูกชายอายุ ๖ ขวบแล้วยังฉี่รดที่นอนบ่อยๆ จะมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะวันที่ไม่ได้ตื่นขึ้นมาฉี่กลางดึก
ตอบ : ศิริไชย หงษ์สงวนศรี
เด็กที่มีอาการปัสสาวะรดที่นอนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะแต่ส่วนน้อยอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะหรือระบบประสาทที่ควบคุมได้ โดยทั่วไปควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและตรวจปัสสาวะหาความผิดปกติเหล่านี้ หากตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ คือมีอาการปัสสาวะรดที่นอนที่ไม่พบสาเหตุทางกาย ควรปฏิบัติดังนี้ หรืออาจจะลองปฏิบัติตามนี้ก่อนไปพบแพทย์ก็ได้
พ่อแม่ควรทราบว่าปัญหาปัสสาวะรดที่นอนเป็นภาวะที่พบได้บ่อย คือประมาณร้อยละ ๑๕ ของเด็กอายุ ๕ ขวบ ยังปัสสาวะรดที่นอน และในจำนวนนี้จะหยุดปัสสาวะรดที่นอนได้เอง ร้อยละ ๑๕ ต่อปี เด็กไม่อยากให้ตนเองปัสสาวะรดที่นอนเหมือนกัน แต่เขาไม่สามารถควบคุมได้จริงๆ จึงไม่ได้เป็นความผิดของเด็ก
ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการลงโทษโดยไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดปัญหาด้านจิตใจ แต่เด็กอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจจากการปัสสาวะรดที่นอน ได้แก่ ความรู้สึกอับอาย ขาดความมั่นใจในตัวเอง วิตกกังวล และปัญหาด้านสังคม เป็นต้น
คำแนะนำช่วยเหลือเด็กที่ปัสสาวะรดที่นอนโดยทั่วไปประกอบด้วย
๑. การจูงใจให้เด็กต้องการควบคุมการปัสสาวะรดที่นอนด้วยตนเอง ด้วยการพูดถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น พ่อแม่รู้สึกดีใจ เด็กสามารถไปนอนนอกบ้านหรือเข้าค่ายกับเพื่อนได้โดยไม่ต้องกังวลใจรวมทั้งความรู้สึกมั่นใจในตนเองแต่โดยทั่วไปเด็กมักต้องการหยุดปัสสาวะรดที่นอนเองอยู่แล้ว
๒. งดอาหารและเครื่องดืมในช่วงเวลา ๑-๒ ชั่วโมงก่อนนอนโดยเฉพาะอาหารเเละเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำอัดลมบางชนิด และชาเขียว เนื่องจากสารกาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะเครื่องเฟอีนเป็นส่วนประกอบประมาณ ๑๐ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตร
๓. ให้ปัสสาวะก่อนเข้านอนทุกคืน
๔. เน้นให้การฝึกควบคุมการปัสสาวะรดที่นอนเป็นความรับผิดชอบของเด็กเอง ตั้งแต่ให้จดบันทึกอาการปัสสาวะรดที่นอนด้วยตนเองลุกขึ้นมาปัสสาวะเองถ้ารู้สึกปวดปัสสาวะ และให้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนหรือทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอน เด็กจำนวนหนึ่งปัสสาวะรดที่นอนลดลงมากหลังจากให้เริ่มบันทึกด้วยตนเอง
๕. งดการปลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้เด็กหยุดปัสสาวะรดที่นอนได้ช้ากว่าไม่ปลุก และมักทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่และเด็กมากกว่า
๖.ใช้หลักพฤติกรรมบำบัดคือให้แรงเสริมทางบวก (positive reinforcement) เมื่อเด็กสามารถควบคุมการปัสสาวะรดที่นอนได้โดยให้เด็กติดสติกเกอร์รูปที่ตนเองชอบลงในปฏิทินในวันที่ไม่ปัสสาวะรดที่นอน และพ่อแม่ควรให้รางวัลด้วยการพูดชมเชย ของเล่น หรือสิทธิประโยชน์บางอย่าง เป็นต้น
พ่อแม่ต้องช่วยติดตามการเปลี่ยนแปลงทุกสัปดาห์ และพิจารณาให้รางวัลที่มีคุณค่ามากขึ้นถ้าเด็กควบคุมการปัสสาวะรดที่นอนได้มากขึ้นในแต่ละสัปดาห์ทีผ่านไป
กรณีที่เด็กอายุมากกว่า ๗-๘ ขวบแล้วยังไม่หยุดปัสสาวะรดที่นอน มีวิธีรักษา ๒ แบบคือการใช้อุปกรณ์สัญญาณปลุกเมื่อปัสสาวะรดที่นอน และการใช้ยารักษา
๑. การใช้อุปกรณ์สัญญานปลุก (enuresis alarm) เป็นวิธีการรักษาที่อาศัยพื้นฐานความรู้จากทฤษฏีการเรียนรู้ คือหากพ่อแม่สามารถทำให้เด็กตื่นนอนทุกครั้งเมื่อกระเพาะปัสสาวะเต็ม (ปัสสาวะรดที่นอน) ประมาณ ๓-๔ สัปดาห์ เด็กจะสามารถตื่นได้เองเมื่อปวดปัสสาวะ เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลมากที่สุด ประมาณร้อยละ ๖๐-๙๐ และมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้น้อย คือประมาณร้อยละ ๑๕-๔๐
การรักษาโดยใช้วิธีนี้ควรใช้ต่ออีกระยะหนึ่งหลังจากหยุดปัสสาวะรดแล้วจึงได้ผลดี เป็นวิธีการรักษาที่แนะนำให้เลือกใช้เป็นลำดับแรกก่อนการรักษาด้วยยา
การปลุกเด็กทุกคืนก่อนที่เด็กจะปัสสาวะรดที่นอน ไม่ได้เป็นการให้เด็กตื่นตอนที่กระเพาะปัสสาวะเต็มพอดี จึงไม่สามารถหยุดอาการปัสสาวะรดที่นอนได้
๒. การรักษาด้วยยา ยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษามี ๒ ชนิด คือ imipramine และ desmopressin acetate (DDAVP) แพทย์จะพิจารณาให้ตามความเหมาะสมโดยทั่วไปยา imipramine ได้ผลประมาณร้อยล่ะ ๔๐-๖๐ แต่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำหลังหยุดยาร้อยล่ะ ๕๐
ส่วนยา DDAVP มี ๒ ชนิดคือชนิดพ่นจมูกและชนิดกิน ได้ผลร้อยละ ๑๐-๖๕ แต่มีโอกาสเป็นซ้ำหลังหยุดยาสูงถึงร้อยละ ๘๐
- อ่าน 4,348 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้