• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไม่มียุง-ไม่มีไข้เลือดออก

คอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์ใหม่ในนิตยสารหมอชาวบ้าน โดยความร่วมมือจาก ชมรมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ขอมอบเป็นของขวัญปีใหม่แด่ท่านผู้อ่าน นับเป็นครั้งแรกที่เราจะนำความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคต่าง ๆ ในประเทศโดยลงตีพิมพ์ติดต่อกัน โดยจะครอบคลุมไปถึงลักษณะของโรคที่ควรรู้ในฤดูกาลต่าง ๆ กัน ตลอดจนวิธีการป้องกันโรคนั้น ๆ ด้วย โดยหวังว่าความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชุมชน เป็นการเสริมทรัพยากรระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อควบคุมและป้องกันโรค หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับบทความ หรือมีคำถามเกี่ยวกับวิธีการควบคุมและป้องกันโรคใด ๆ ก็ตาม ก็กรุณาเขียนถามมาได้ 

                        

 

คุณหมอครับ ผมกลัวลูกผมจะเป็นไข้เลือดออก มันอันตรายจริง ๆ นะครับ
คนไข้รายหนึ่งที่สนิทสนมกันดี เปรยให้ผมฟังเมื่อฤดูฝนปีกลาย

ผมต้องไปงานศพลูกชายของเพื่อนคนหนึ่ง และลูกสาวของเพื่อนอีกคนหนึ่งในช่วงอาทิตย์เดียวกัน”
นั่นคือเหตุที่ทำให้แกคิดว่าไข้เลือดออกนั้นอันตราย

ฤดูฝนกำลังจะมาถึงอีกแล้ว ผมหวนคิดถึงคำพูดของคนไข้รายเดิม พร้อมตั้งคำถามว่าปีนี้จะมีผู้ปกครองอีกกี่ร้อยคนที่ต้องคลั่งน้ำตาเนื่องจากเสียลูกรักไป หรือถึงแม้จะไม่ตายก็อาจทำให้เงินเดือนขนาด 5-6 พันบาท หมดไปในเวลา 4-5 วันที่ลูกป่วยหนัก ก็เลยชวยนักกีฏวิทยาที่ทำงานด้วยกันให้มาช่วยเขียนการป้องกันโรคไข้เลือดออก
ท่านผู้อ่านที่เคารพรัก ท่านเชื่อหรือไม่ว่าในปี 2530 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยด้วยไข้เลือดออก 161,339 คน ตาย 838 คน หรือเฉลี่ยให้เห็นง่าย ๆ ว่าในแต่ละวันจะมีคนป่วย 440 คน และตาย 2 ถึง 3คนทุกวัน ถ้าคิดเฉพาะค่ารักษาคนไข้ประเทศ เราต้องสูญเสียเงินวันละ 1 ล้านบาท

ที่สำคัญคือโรคนี้เกิดกับเด็กในวัยเรียนชั้นประถมและเด็กเล็ก ๆ ที่กำลังเข้าเรียนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ โรคในวัยเรียนเด็กที่สำคัญต่าง ๆ เช่น โรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ หัด อุจจาระร่วง รวม ๆ กัน แล้วจึงมีจำนวนตายใกล้เคียงกับไข้เลือดออกโรคเดียว จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าไข้เลือดออกเป็นโรคร้ายอันดับหนึ่งสำหรับเด็ก และนับวันที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก ๆ มากขึ้น ๆ ถ้าผู้ปกครองและคุณครูไม่หันมาร่วมมือกันกำจัดมัน

ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อโรคตัวเล็ก ๆ ชนิดหนึ่ง เราเรียกว่าไวรัส เดงกี่ ติดต่อจากเด็กที่ป่วยคนหนึ่ง ไปสู่อีกคนหนึ่งโดยวิธีเดียวเท่านั้นคือถูกยุงลายกัด เมื่อเชื่อเข้าไปในร่างกายได้ 5-6 วันก็จะเริ่มทำให้มีไข้และทำอันตรายต่อเกร็ดเลือดซึ่งมีหน้าที่ทำให้เลือดแข็งตัว ดังนั้นจึงมีอาการเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือเลือดกำเดาออก อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการทำอันตรายผนังหลอดเลือดทำให้มีรูเปิดเล็ก ๆ เกิดขึ้นเลือดจึงไหลออกข้างนอกเส้นเลือดได้ แต่ตัวเม็ดเลือดนั้นผ่านออกไปไม่ได้ (เพราะมีขนาดใหญ่เกินไป) เมื่อน้ำเลือดไหลออกไปมาก ๆ เหลือแต่เม็ดเลือดก็จำทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดีพอ เกิดอาการที่ภาษาแพทย์เรียกว่า “ช็อก” นั่นคืออวัยวะต่าง ๆ ทำงานต่อไปไม่ได้เนื่องจากขาดเลือดมาถึงขั้นนี้ก็เรียกว่ามีโอกาสตายได้มาก สรุปแล้วการตายของโรคไข้เลือดออกเกิดจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ เลือดออกมาก ๆ และหรือมีอาการช็อก

ด้วยเหตุนี้เวลาที่บุตรหลานในวัยเด็กป่วยด้วยอาการคล้ายไข้เลือดออกจึงห้ามมิให้กินยาแอสไพรินลดไข้ เพราะแอสไพรินจะระคายเคืองต่อกระเพาะและทำให้เลือดออกได้ง่ายอยู่แล้ว
สิ่งที่ควรทำคือ เมื่อเด็กตัวร้อนให้เช็ดตัวบ่อย ๆ หากไข้ไม่ลดให้กินยาพาราเซตตามอลในขนาดที่เหมาะสม และห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ให้ดื่มน้ำมาก ๆ หรือดื่มน้ำเกลือชนิดผงที่ละลายน้ำกินก็ได้
ผมได้เกริ่นไว้ว่าไวรัสเดงกื่ ที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกต้องอาอาศัยยุงลายเป็นพาหะนำเชื้อจากคนป่วยมาสู่คนปกติ เพราะฉะนั้นถ้าคิดกันแบบง่าย ๆ และถูกต้องที่สุดคือ ไม่มียุงลาย(ก็)ไม่มีไข้เลือดออก
ยุงลายเป็นยุงที่ขนาดปานกลาง ลำตัวสีดำและขาว ขาเป็นปล้องสีดำ และสีขาวสลับกันเห็นได้ชัดเจน ด้านบนของส่วนอกมีแถวขาว รูปเคียว 1 คู่ ยุงลายชอบกัดกินเลือดในเวลากลางวัน และชอบวางไข่ในภาชนะที่มีน้ำใส ภาชนะใส่น้ำภายในบ้าน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ดีกว่าภาชนะนอกบ้านและภาชนะที่มีฝาปิด มีลูกน้ำยุงลายน้อยกว่าภาชนะที่ไม่ปิดฝา

ภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่สำคัญตามลำดับในบ้านของท่านผู้อ่าน ได้แก่
1. โอ่งน้ำใช้
2. ขาตู้กันมด
3. โอ่งน้ำดื่ม
4. ถังซีเมนต์ในห้องน้ำ
5. ภาชนะอื่น ๆ เช่น จานรอง กระถางต้นไม้ ไห แจกันพลูด่าง ยางรถยนต์ ที่ใส่น้ำให้สัตว์ เป็นต้น
6. โอ่งซีเมนต์ขนาดใหญ่ (โอ่งจัมโบ้)

ท่านควรจะหาเวลาสำรวจภาชนะเหล่านี้เป็นประจำ ถ้าพบว่ามีลูกน้ำก็แน่ใจได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเป็นลูกน้ำยุงลาย
การป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ครอบมุ้งเวลาลูก ๆ นอนตอนกลางวัน หรือจุดยากันยุง ฉีดพ่นยากันยุง เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่การกำจัดลูกน้ำยุงก่อนที่จะกลายเป็นยุงลาย เป็นสิ่งที่แก้ปัญหาตรงต้นเหตุและได้ผลดีกว่า ซึ่งท่านสามารถจะดำเนินการได้ด้วยตนเอง และจะดียิ่งขึ้นถ้าท่านชักชวนเพื่อนบ้านใกล้เคียงกำจัดลูกน้ำยุงลายไปพร้อมกัน
    

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำง่าย ๆ แต่ได้ผลดีในการกำจัดลูกน้ำยุงลายที่เกิดในแต่ละภาชนะ
1. ภาชนะที่เก็บน้ำไว้เพื่อกิน หรือใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น โอ่งน้ำดื่มหรือโอ่งน้ำใช้ โอ่งซีเมนต์ในห้องน้ำ ฯลฯ ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระกว่างการใส่ทรายอะเบท หรือการปล่อยปลาหางนกยูงหรือปลาสอด หรือปลากัดเพื่อกินลูกน้ำ และถ้าปิดฝาได้ก็ยิ่งดีใหญ่ เพราะยุงจะลงไปไข่ลำบากขึ้น
ทรายอะเบทเป็นทรายที่เคลือบยาฆ่าลูกน้ำ แต่ไม่มีอันตรายต่อคนยาที่เคลือบอยู่จะค่อย ๆ ละลายออกมาและมีฤทธิ์อยู่นาน 3 เดือน ดังนั้น จึงต้องเติมทรายอะเบททุก 3 เดือน ปริมาณที่ใช้คือ 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ปี๊บ (โอ่งมังกร) การปล่อยปลากินลูกน้ำจะปล่อยโอ่งละ 2 ตัว และถ้าปลาหายไปให้เพิ่มปลาเท่าเดิม สามารถขอปลานี้ได้จากสถานบริการสาธารณสุขระดับจังหวัดและอำเภอทั่วไป
ท่านควรจะตัดสินใจใช้วิธีไหน ที่ท่านชอบเพราะทั้งสองวิธีได้ผลทั้งคู่ ในกรณีที่ไม่ทำทั้งสองอย่าง อย่างน้อยก็ขอให้ท่านปิดผาโอ่งมิดชิดด้วยฝาหรือตาข่ายพลาสติกหรือผ้าพลาสติก และล้างขัดถูผิวภายในโอ่ง และเทน้ำทิ้งทุก 7 วัน

2. ขาตู้กันมด มักจะใส่น้ำหล่อไว้เพื่อกันมดไต่ขาตู้กับข้าว เราควรจะเปลี่ยนมาใส่ขี้เถ้าที่เกิดจากถ่านหรือฟืนแทน หรือใส่น้ำมันขี้โล้ น้ำมันดีเซล หรือน้ำมันอะไรก็ได้ แทนน้ำ นอกจากจะไม่ต้องคอยเติมแล้ว ยังกันมดได้ดี และที่สำคัญยุงลายไม่ลงไปวางไข่แน่นอน

3. แจกันดอกไม้ ใช้วิธีถ่ายน้ำทิ้งทุก 7 วัน นอกจากจะกันยุงลายลงไปวางไข่ แล้วยังช่วยให้ต้นมีน้ำสะอาดเสมอ

4. ภาชนะที่มีน้ำขังอื่น ๆ ที่อยู่รอบบ้าน เช่น ยางรถยนต์ กระป๋อง ถังหรือขวดพลาสติก ต่าง ๆ ใช้วิธีขุดหลุมฝัง หรือทำลายทิ้งด้วยวิธีอื่น ๆ อย่าเสียดายมันเลยนะครับ
คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคุณครูที่รักเด็ก ๆ ของท่าน นอกจากท่านจะมีหน้าที่ในการหาอาการ เครื่องนุ่มห่ม ของเล่น สอนหนังสือ ฯลฯ ให้เด็ก ๆ ของท่านแล้ว หน้าที่ในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน ในโรงเรียน เป็นหนทางสำคัญที่ท่านจะช่วยคุ้มครองบุตรหลานของท่านได้

ไม่มีใครเลี้ยงฆาตกรในบ้าน เช่นเดียวกันอย่าเลี้ยงยุงลายไว้ในบ้านของท่าน กำจัดลูกน้ำยุงลาย ก่อนที่ยุงลายจะทำร้ายลูกของท่าน จำคาถาฉบับนี้ไว้นะครับ ไม่มียุงลาย-ไม่มีไข้เลือดออก

 

ข้อมูลสื่อ

109-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 109
พฤษภาคม 2531
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์