• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เปรียบเทียบการรักษาแผนจีน-แผนปัจจุบัน (ตอนที่ 7) ภาวะมีบุตรยาก : ทัศนะแพทย์แผนปัจจุบัน

มีการร่ำลือกันมากเกี่ยวกับการรักษา "ภาวะมีบุตรยาก" ด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน

ผู้หญิงอายุ 32 ปี มีปัญหาภาวะมีบุตรยาก ได้ทำการตรวจและรักษากับผู้เชี่ยวชาญ ด้วยการปลูกถ่าย ฝังตัวอ่อนมา 3 ครั้ง ประสบความล้มเหลว ผู้หญิงรายนี้ปวดศีรษะไมเกรน มีร่างกายอ่อนแอมาตลอดตั้งแต่เด็ก เป็นภูมิแพ้ ขี้หนาว

ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่ง อายุ 33 ปี แต่งงานมา 5 ปี ยังไม่ตั้งครรภ์ ไปปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันได้ตรวจเช็กเลือด ปรากฏว่าฮอร์โมนผิดปกติ ภาวะเหมือนคนใกล้หมดประจำเดือน

แพทย์แนะนำการรักษาด้วยการฉีดฮอร์โมน เธอไม่ตัดสินใจ เพราะกลัวผลแทรกซ้อนของยาฮอร์โมน เธอมีโรคประจำตัวคือปวดศีรษะบริเวณหน้าผากระหว่างคิ้ว

ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจาง ได้ธาตุเหล็ก และกินกรดโฟลิก แต่กินแล้วมักท้องเสีย ผู้ป่วยเป็นคนขี้หนาว นอนหลับไม่สนิท ระบบการย่อยและดูดซึมอาหารไม่ค่อยดี

ผู้หญิงอีกรายอายุ 40 ปี ทำเด็กหลอดแก้วมาแล้ว 3 ครั้ง ปรากฏว่าล้มเหลว ผู้ป่วยมีประจำเดือนมาไม่ปกติ มาไม่ตรงเวลา ปวดประจำเดือน ประจำเดือนเป็นก้อนดำคล้ำ มดลูกไม่มีเนื้องอก หรือพังผืด มีอาการปวดศีรษะไมเกรน และเครียดง่าย

ผู้หญิงที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากมาพบแพทย์จีนดังตัวอย่างข้างต้น พบได้บ่อยๆ ทางคลินิก สิ่งที่น่าสนใจ คือแพทย์แผนจีนช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากได้อย่างไร

ปัจจุบันเราพบว่าทุก 100 คู่ สามีภรรยาจะมีปัญหามีบุตรยาก 15 คู่ หรือปัญหามีบุตรยากมีประมาณร้อยละ 15 ของบรรดาคู่สามีภรรยาทั้งหลาย

ความหมายของภาวะมีบุตรยาก
คู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกัน มีเพศสัมพันธ์กันได้ตามปกติและสม่ำเสมอ โดยไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีใดมาเป็นเวลา 1-2 ปี และยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

พบว่าการมีเพศสัมพันธ์สัปดาห์ละอย่างน้อย 2-3 วัน (ไม่ได้คุมกำเนิด) โดยทั่วไปภายใน 5 เดือน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ ร้อยละ 50 และในเวลา 1 ปีโอกาสอัตราการตั้งครรภ์ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80-90

ภาวะมีบุตรยากในทัศนะการแพทย์ปัจจุบัน
สาเหตุและปัจจัยที่สำคัญ
ฝ่ายชาย พบความผิดปกติ ร้อยละ 40
ส่วนมากจากความผิดปกติของการผลิตเชื้ออสุจิ เช่น จำนวนเชื้ออสุจิน้อย การเคลื่อนไหวแหวกว่ายผิดปกติ สาเหตุอื่นที่พบน้อย เช่น ท่อน้ำเชื้อตีบตัน หรือความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดในระบบสืบพันธุ์

ฝ่ายหญิง
พบความผิดปกติ ร้อยละ 60
ส่วนมากเกี่ยวข้องกับภาวะไข่ไม่ตก ผนังมดลูกเจริญเติบโตไม่ดี (เชื้อที่ผสมแล้วไม่เจริญเติบโต) ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะฮอร์โมน และความผิดปกติของท่อนำไข่อุดตัน พังผืด เนื้องอกมดลูก (myoma) เยื่อผนังมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) รวมถึงความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ที่เป็นแต่กำเนิด

ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ประมาณร้อยละ 20
ความอ้วน ทุโภชนาการ ความเครียด บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเกิดภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้ออสุจิ

การตรวจวินิจฉัยแบบแผนปัจจุบัน
มุ่งเน้นลงในรายละเอียด เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
ฝ่ายชาย ตรวจสอบสภาพของน้ำอสุจิ ดูรูปร่าง ปริมาณ ความแข็งแรง การเคลื่อนไหวแหวกว่าย ความเป็นกรด เป็นด่าง ตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ดูการติดเชื้อ

ฝ่ายหญิง
ตรวจสภาพการตกไข่ โดยตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Basal Body Temperature) การตรวจฮอร์โมน LH ในปัสสาวะ การตรวจการตกไข่ด้วยอัลตราซาวนด์ การตรวจฮอร์โมนในเลือด
- นอกจากนี้ยังมีการตรวจกรณีสงสัยความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องเชิงกราน ด้วยการตรวจ ช่องท้อง (Laparoscopy)
- ถ้าสงสัยความผิดปกติของโพรงมดลูก ก็จะมีการส่องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy)

การรักษา
ความผิดปกติของเชื้ออสุจิในผู้ชาย
- แต่เดิมใช้ฮอร์โมนเพศ หรือยาไปกระตุ้นการสร้างตัวอสุจิให้มากขึ้น แต่มักไม่ค่อยได้ผล หรือบางรายได้ผลตรงข้ามกลับทำให้มีตัวอสุจิน้อยลงไปอีก
- ใช้อสุจิบริจาค ซึ่งอาจจะเป็นอสุจิสด หรือแช่แข็ง (ตัวอสุจิของมนุษย์สามารถเก็บไว้ในไนโตรเจนเหลว ที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เป็นเวลาหลายปี) ของคนอื่น
- คัดเลือกเชื้ออสุจิที่แข็งแรง เอาตัวที่อ่อนแอออก ลดความหนืด ล้างเอาภูมิคุ้มกันต่อตัวอสุจิออก เพื่อนำไปใช้ผสมเทียม
- ใช้เข็มเล็กๆ ดูดเอาตัวอสุจิจากอัณฑะกรณีที่ไม่เจอเชื้ออสุจิในน้ำอสุจิ แล้วคัดเลือกตัวอสุจิที่แข็งแรงเพียงตัวเดียวฉีดเข้าไปผสมกับไข่โดยตรง (อิ๊กซี่) ICSI (Intra-cytoplasmic sperm injection)

การผิดปกติของผู้หญิง

- ความผิดปกติของการตกไข่ แก้ไขความผิดปกติ ของฮอร์โมน หรือใช้ยากระตุ้นการตกไข่
- ท่อนำไข่ตัน ใช้การผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ และเครื่องมือขนาดเล็ก (Micro-surgery) เพื่อตัดส่วนที่ตันออก เอาส่วนดีของท่อมาต่อเข้าด้วยกัน
- ถ้าติดเชื้อก็ให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรค
- มีพังผืดมดลูก ก้อนเนื้อมดลูก รังไข่ ก็ผ่าตัดออก

การผสมเทียม

ถ้านำอสุจิมีคุณภาพบกพร่องเล็กน้อย และฝ่ายหญิงก็ไม่มีความผิดปกติรุนแรง แพทย์จะใช้แนวทางการผสมเทียม โดยเอาเชื้อของสามีฉีดเข้าไปในโพรงมดลูก ร่วมกับการใช้ยากระตุ้นไข่ เพื่อเพิ่มโอกาสการผสมกันระหว่างไข่กับอสุจิ

การทำเด็กหลอดแก้ว

เป็นการปฏิสนธินอกร่างกายแล้วนำกลับเข้าไปฝังตัวในร่างกาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใช้มากที่สุดในปัจจุบัน

แต่เดิมใช้การเก็บไข่ออกมานอกร่างกาย แล้วนำเชื้ออสุจิของฝ่ายชายล้างเอาน้ำออกเหลือแต่ตัวอสุจิ ทำการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย แล้วเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะที่แข็งแรงที่สุด (ประมาณ 5-6 วัน) จนได้ส่วนที่เจริญเป็นรกและตัวอ่อนชัดเจนเรียกว่า บลาสโตซิส แล้วย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก (IVF - ET) In-vitro fertilization หรือนำไข่ที่เก็บจากภายนอก แล้วนำไข่กับตัวอสุจิที่ปฏิสนธิแล้วกลับเข้าไปผสมกันที่ท่อนำไข่ ซึ่งต้องมีการเจาะท้องส่องกล้อง เรียกว่า ทำ GIFT (Gamete intra-fallopian transfer)

ปัจจุบัน นิยมใช้การฉีดตัวอสุจิเข้าไปผสมกับไข่โดยตรง เรียกว่า ICSI (Intracytoplasmic Injection) มักใช้กรณีเชื้ออสุจิน้อย การเคลื่อนไหวของอสุจิไม่ดี เกินกว่าที่จะรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว

สำหรับฉบับหน้าจะพูดเรื่องภาวะมีบุตรยากในทัศนะแพทย์จีน

 

ข้อมูลสื่อ

358-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 358
กุมภาพันธ์ 2552
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล