ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ได้มีการกำหนดให้ดอกพุทธรักษาสีเหลือง เป็นสัญลักษณ์ของวันพ่อ
"พุทธรักษา" มีความหมายตรงตัวง่ายๆ แบบชาวพุทธ คือ "พระคุ้มครอง" หมายถึงพระพุทธเจ้าคอยปกป้องคุ้มครอง
คนโบราณเชื่อว่า มีพระคุ้มครองรักษาให้มีความสุข ถือว่าเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ควรปลูกในวันพุธ เพราะโบราณเชื่อว่า การปลูกไม้เอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธ เพื่อต้นไม้นั้นจะได้ออกดอกบานสะพรั่งอยู่เสมอและเป็นสิริมงคล ส่งเสริมดวงชะตาให้ผู้ปลูกเจริญรุ่งโรจน์
ควรปลูกต้นพุทธรักษาไว้ทางทิศตะวันตก จะได้คอยปกป้องคุ้มครองครอบครัวให้แคล้วคลาดจากเรื่องไม่ดี
พุทธรักษา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Canna indica Linn. เป็นพรรณไม้ที่พบในอินเดียเป็นครั้งแรก เป็นพืชในวงศ์ Cannaceae
พุทธรักษา มีชื่อเรียกอื่นเช่น พุทธศร บัวละวงศ์ ชื่อสามัญภาษาอังกฤษเรียกว่า Butsarana
คนอินโดนีเซียเรียกว่า Bunga tasbih มาจากภาษาอาหรับ หมายถึง ลูกประคำที่ใช้ในเวลาสวดมนต์ เนื่องจากดอกพุทธรักษาเมื่อกลีบโรยหมดแล้ว จะติดผลเมื่อผลแก่จะมีเมล็ดแข็งนำมาทำลูกประคำได้
ในประเทศสเปน ชาวบ้านนำเมล็ดของพุทธรักษามาทำลูกปัด ชาวซิมบับเวใช้เมล็ดพุทธรักษาเป็นส่วนประกอบในการทำเครื่องดนตรีที่เรียกว่า Hosha ทำให้เขย่าแล้วมีเสียงดัง
การปลูกพุทธรักษาในประเทศไทยมีมายาวนานกว่า 200 ปี อาจเป็นเพราะเป็นพืชที่ปลูกและขยายพันธุ์ง่าย
พุทธรักษาเป็นพรรณไม้ล้มลุก เนื้ออ่อนอวบน้ำ ลำต้นมีความสูงประมาณ 1-2 เมตร มีลำต้นแท้อยู่ใต้ดิน และมีลำต้นเทียมที่ประกอบด้วยก้านใบ รวมกันคล้ายต้นกล้วย แผ่นใบคล้ายใบพาย หรือรูปหอก ใบมีสีเขียวสด เส้นใบเรียงขนานกัน ยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น
ดอกพุทธรักษาออกเป็นช่อตรงยอดของลำต้น ช่อมีขนาดยาว 15-25 เซนติเมตร เมื่อออกดอกแล้วจะติดผลสีเขียวมีหนามตื้นๆ เป็นพู ผลแก่จะมีสีดำภายในมีเมล็ดขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา
ด้วยการปรับปรุงพันธุ์พุทธรักษาโดยการฉายรังสีแกมมา ทำให้ได้พันธุ์พุทธรักษาที่มีลักษณะของดอกพุทธรักษาหลายลักษณะ มีหลายสีสันมากมาย สีขาว สีเหลืองอ่อน สีชมพู สีแสด สีแดง สีชมพูปนม่วง เป็นต้น
พุทธรักษายังมีสรรพคุณทางยาด้วย เช่นที่ประเทศ ปาปัวนิวกินี ใช้หัวพุทธรักษาเป็นอาหารหลักเหมือนหัวเผือกหัวมัน ส่วนไทยเราเมื่อสมัยโบราณ นำหัวพุทธรักษามาต้มกิน บำรุงปอด แก้อาเจียน หรือไอเป็นเลือด บางครั้งนำดอกมาใช้ห้ามเลือด รักษาแผลที่มีหนอง เมล็ดใช้บดแก้ปวดศีรษะ แต่ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สนับสนุนสรรพคุณในทางยา จึงนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ
เอกสารอ้างอิง
1. http://www.Thaithink.com
2. http://www.yodtip.com/web/tree/t2.asp
3. http://www.geocities.com/aran5281/page2.html
4. http://www.doa.go.th/th/ShowArticles.aspx?id=1373
- อ่าน 22,114 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้