• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เป็นเบาหวานแล้วตาบอดได้อย่างไร ตอนที่ 2

ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เปลือกตา ฉบับนี้จะได้กล่าวถึงภาวะที่พบได้ในคนเป็นเบาหวาน ที่ปรากฏออกทางตาต่อจากฉบับที่แล้ว

2. ม่านตา
มีการเปลี่ยนแปลงคือ มีเส้นเลือดฝอยมากกว่าปกติบริเวณผิวพื้นด้านหน้าของแผ่นม่านตาสีน้ำตาลที่เห็นนั้น ตามปกติแล้วแผ่นผืนม่านตาไม่ควรมีเส้นเลือดฝอยทอดออกมาให้เห็น จะเต็มไปด้วยเส้นใยสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลเข้ม หรือสีเขียว สีฟ้า ก็แล้วแต่เชื้อชาติ ในพวกที่เป็นเบาหวานนานๆ หรือไม่ได้รับการควบคุมให้ดีจะมีการก่อตัวเส้นเลือดฝอยวิ่งทอดบนแผ่นม่านตา

อันนี้มีผลทำให้เกิดภาวะได้ผลหลายประการคือ
ก. เซลล์ของสีผิวม่านตาอาจจะเสื่อมหลุดลอกได้ง่าย

ข. อาจมีเลือดออกภายในช่องลูกตาขึ้นมาเองโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ที่แท้แล้วก็คือ การฉีกขาดของเส้นเลือดฝอยดังกล่าวนั่นเอง มีผลทำให้ตาข้างนั้นมัวลงหรือมืดไปในฉับพลันทันที

ค. เส้นเลือดจำนวนมากที่เกิดขึ้นมาใหม่บนผืนแผ่นม่านตา (Neevascular) อาจทอดอยู่บนบริเวณมุมช่องลูกตาด้านหน้าอุดทางเดินของน้ำภายในลูกตาไม่ให้เกิดการไหลเวียนได้สะดวก ความดันภายในลูกตาสูง เกิดภาวะ “ต้อหิน” ขึ้นมาได้ ถือว่าอันตรายมากทำให้ตาบอดได้อีกประการหนึ่ง และรักษาค่อนข้างยากมากสำหรับต้อหินชนิดนี้ เพราะเส้นเลือดฝอยมาอุดทางเดินน้ำหมอตากลัวนัก รักษาไม่ค่อยได้ผล

จักษุแพทย์ท่านใดส่องด้วยเครื่องพิเศษ ถ้าเห็นเส้นเลือดฝอยบริเวณมุมช่องลูกตามักจะ “ส่ายหัว” หมายความว่า “หิน” ครับ แปลว่า “รักษายาก”

ง. กล้ามเนื้อการหดหรือขยายรูม่านตา (pupil) มีแรงน้อยลง จึงสังเกตได้ง่ายเมื่อเอาไฟฉายส่องตา ผู้ที่เป็นเบาหวานมานานๆ รูม่านตาไม่ค่อยจะมีปฏิกิริยาต่อแสงมากนัก ในคนปกติเมื่อรูม่านตาโดนไฟฉายส่องตรงๆจะหดเล็กลงทันที เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับระบบประสาทที่มาบังคับรูม่านตา แต่ในพวกเบาหวานประสาทการบังคับจะถูกคุกคามโดยโรคนี้ทำให้ทำงานน้อยลง รูม่านตาจึงหดตัวช้าลงหรือหดไม่เต็มที่เหมือนปกติ

จ. ม่านตาอักเสบ จะพบในเบาหวานชนิดอายุน้อย (juvenile diabetes) มีอาการตาแดง เคือง ปวด และมัวพร่าบ่อยๆ

3. เลนส์ตา

มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นต้อกระจกได้เร็วขึ้น พอจะแบ่งการเปลี่ยนแปลงออกได้เป็น 3 แบบดังนี้

ก. ต้อกระจกจากเบาหวานโดยตรง อันนี้ตอบค่อนข้างน้อย จะพบจริงๆต้องในคนไข้ที่มีระดับน้ำตาลสูง ควบคุมไม่ลงหรือเป็นเบาหวานมานานมาก โดยเฉพาะในเบาหวานชนิดอายุน้อย (juvenile diabetic) ดังกล่าวไว้ตอนต้น เลนส์ตาจะมีลักษณะขาวขุ่นเป็นจุดๆ ทั่วไปบนเนื้อเลนส์คล้ายปุยหิมะ หรือจะก่อตัวบริเวณแผ่นผิวด้านหลังตัวเลนส์ติดกับน้ำวุ้นลูกตาเลยก็ได้ ถ้าไม่ตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษจะวินิจฉัยยากมาก ทำให้ผู้ป่วยตามัวลงจนบางครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่ได้

ทำไมหรือ?
ก็เพราะมองดูตาด้านหน้าใสแจ๋วดี แต่ทำไมวัดสายตากลับบ่นว่ามัวแล้วมัวอีก วัดแว่นตาให้ก็ไม่ดีขึ้นจนกว่าจะขยายม่านตาตรวจด้วยเครื่องมือเฉพาะจึงจะทราบ

ต้อพวกนี้เจริญรุดหน้าเร็ว ไม่ช้าจะขาวขุ่นไปทั้งตัวเลนส์ และเป็นสองข้างค่อนข้างพร้อมกัน

ข. ต้อกระจกชนิดวัยชรา (Senile Cataract) ร่วมกับการเป็นโรคเบาหวาน คนไข้พวกนี้ถือว่ามีกรรมซ้ำสอง คือเป็นต้อกระจกแบบชนิดที่เรียกว่า “ต้อกระจกตามวัย” หรือ “ต้อกระจกวัยชรา” ตามปกติแล้วยังโดนเบาหวานกระหน่ำซ้ำเติมให้ต้อดังกล่าวเจริญหรือสุกเร็วอีกแรง แทนที่ต้อจะสุกประมาณ 3 หรือ 4 ปี พวกนี้อาจเพียงปีหรือสองปีต้อสุกพร้อมจะผ่าตัดได้แล้ว กล่าวให้เข้าใจง่ายก็หมายถึงว่าตามัวเร็วนั่นเอง

ค. มีการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเลนส์ตาเกี่ยวกับระดับน้ำตาสูงทำให้มีการถ่ายเทระดับน้ำตาลเข้าออกตัวเลนส์ มีผลทำให้ดรรชนีการหักเหแสงเปลี่ยนแปลงไป นั่นก็คือมีผลทำให้ผู้ป่วยสายตามัวลงแบบคนสายตาผิดปกติ คือค่าของสายตาจะสั้นลง บางรายมีการเปลี่ยนแปลงกำลังแว่นตาขึ้นไป 3 หรือ 4 ไดออปเตอร์ (คือสั้นลง 300 หรือ 400 ตามภาษาชาวบ้าน)

ดังนั้น คนที่มีการเปลี่ยนแปลงในสายตา ต้องไปวัดแว่นบ่อยๆ หรือเปลี่ยนแว่นตาใหม่อยู่เสมอๆ ในช่วงเวลาอันรวดเร็ว ควรจะคิดถึงเรื่องเบาหวานไว้ด้วยนะครับ เพราะบางครั้งอาการเปลี่ยนแปลงของสายตาเกี่ยวกับแว่นอาจเป็นอาการนำมาของเบาหวานก็ได้ มิใช่ว่าเบาหวานนำหน้าอาการนี้

4. เปลือกตาและกล้ามเนื้อการกลอกลูกตา
ก. คนเป็นเบาหวานมานานพอสมควร แม้จะมีการวบคุมดีแล้วก็ตาม บางรายจะพบว่าวันดีคืนดีจะมีอาการเปลือกตาบนตี่ลง หรือหรี่ลง มีความรู้สึกหนักๆเปลือกตาเหมือนกับตาจะหลับหรือปิดตลอดเวลา แสดงว่าเปลือกตาเริ่มโดนเบาหวานคุกคามเข้าแล้ว พุ่งไปที่ประสาทการบังคับการยกเปลือกตาขึ้น หรือประสาทบังคับการลืมตานั่นเอง (ประสาทสมองเส้นที่ 3)

เริ่มทีแรกๆจะมีความรู้สึกว่าเปลือกตาข้างใดข้างหนึ่งตี่ลงเล็กน้อย พอไประยะหลังๆ หรือนานวันผ่านไป ตาที่ตี่หรือหรี่ลงจะมากขึ้นจนทำให้เวลามองอะไรต้องพยายามยกคิ้วข้างนั้นให้สูงขึ้นตลอดเวลา หน้าผากมีรอยย่นจนเหมือนกับว่า “แก่เร็วกว่าวัย”

ครั้นนานไป อาจเป็นสองข้าง อันนี้ค่อนข้างรุนแรง ผู้ป่วยจะมองอะไรต้องยกคิ้วทั้ง 2 ตลอดเวลา หรือมิฉะนั้นก็ต้องเงยหน้าช่วยเพื่อจะได้เห็นอะไรได้ชัดดี

จะเห็นได้ว่าเปลือกตามีผลกระทบจากเบาหวาน ไม่เพียงแต่เป็นฝีกุ้งยิงบ่อยดังกล่าวแต่ต้นแล้ว ยังถูกคุกคามประสาทที่มาบังคับการยกเปลือกตาอีกทางหนึ่งด้วยเป็นซ้ำสอง

ข. กล้ามเนื้อการกลอกลูกตาจะมีผลกระทบไปพร้อมกับภาวะเปลือกตาตก คือลูกตาจะเฉออกด้านนอก ทำให้ตาข้างเดียวกับที่ตี่ลงมีลักษณะเขออกนอก (Exotropia) และเหลือบต่ำลง (depression) ทำให้ผู้ป่วยมองอะไรเป็นสองภาพ หรือที่เรียกว่าภาพซ้อนตลอดเวลา มองคนที่นั่งสนทนาอยู่ต่อหน้าเป็นสองคน คือมีเงาซ้อนขึ้นมาอีกภาพสร้างความรำคาญและหงุดหงิดแก่คนไข้เบาหวานพวกนี้ไม่ใช่น้อย พอดีพอร้ายเป็นประสาทอ่อนๆ เอาง่ายๆ บางรายเป็นมากๆ ต้องเอาผ้าปิดตาข้างนั้นไว้เลย เพื่อจะมองอะไรๆได้สะดวก

นอกจากจะมีภาพซ้อนแล้ว บางครั้งอาจมีอาการปวดลูกตาข้างนั้นได้ เพราะประสาทสมองเส้นที่ 3 ที่มาบังคับการลืมตาและกลอกลูกตาถูกคุกคามโดยโรคนี้อักเสบระบม

ท่านใดก็ตามที่ไม่เคยตรวจเบาหวานหรือรู้ตัวว่าเป็นเบาหวานมาก่อน อยู่ๆมีเปลือกตาตก มองอะไรมีภาพซ้อนโดยไม่มีการถูกกระทบกระแทกหรือปวดศีรษะมึนมาก่อน น่าจะนึกถึงเบาหวานไว้บ้างนะ
นอกจากประสาทเส้นที่ 3 ที่มาบังคับลูกตา ยังอาจมีเส้นประสาทเส้นอื่นๆใกล้เคียงกัน และทำหน้าที่กลอกตาโดนคุกคามด้วยก็ได้ ได้แก่ ประสาทสองเส้น เส้นที่ 4 และเส้นที่ 6 แต่ก็น้อยไม่เหมือนเส้นที่ 3

 

ข้อมูลสื่อ

104-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 104
ธันวาคม 2530
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์