การแท้ง
- การแท้งคืออะไร
- ทำไมจึงแท้ง
- แท้งแล้วมีอันตรายหรือไม่
- ถ้ามีการแท้งเกิดขึ้นจะทำอย่างไร
การแท้ง เป็นการสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ก่อนระยะเวลาที่ครรภ์จะครบกำหนด ทางการแพทย์ส่วนใหญ่ถือว่า การแท้งเป็นการสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ก่อนที่อายุครรภ์ครบ 28 สัปดาห์ หรืออาจนับเอาน้ำหนักของทารกเป็นเกณฑ์ว่าต่ำกว่า 1,000 กรัมถือว่าเป็นการแท้ง แต่ตามความเข้าใจของคนทั่วไป การแท้ง คือ การที่มีเลือดหรือมีชิ้นเนื้อ หรือมีตัวเด็กที่ไม่มีชีวิต ออกมาทางช่องคลอดระหว่างการตั้งครรภ์
การแท้งที่เกิดขึ้นเอง มีสาเหตุได้ทั้งด้านมารดาและทารก สาเหตุด้านมารดาส่วนใหญ่ควรจะป้องกันได้ สำหรับสาเหตุทางทารกนั้นเป็นกลไกที่มองไม่เห็น อาจเกิดเนื่องจากการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้วในโพรงมดลูกไม่ดี หรือมีการเกาะของรกผิดที่ เป็นต้น
สาเหตุทางด้านมารดา ที่พบได้บ่อย คือ การขาดอาหาร และการติดเชื้อชนิดเฉียบพลัน ทำให้มีไข้สูง เช่น การติดเชื้อไข้จับสั่นหรือมาลาเรีย การติดเชื้อหัดเยอรมัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจพบว่า มีความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ ความผิดปกติทางฮอร์โมน การได้รับแรงกระทบกระเทือน การได้รับสารพิษ และประการสำคัญ คือ มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือได้รับความกระทบกระเทือนด้านจิตใจอย่างรุนแรง
ชนิดของการแท้งมีชื่อเรียกต่างๆ กัน ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของการแท้งนั้นๆ เช่น การแท้งครบ หมายถึง การแท้งที่ทารก รก และถุงน้ำคร่ำ หลุดออกมาจากโพรงมดลูกทั้งหมด การแท้งชนิดนี้เลือดจะหยุดได้เอง ปากมดลูกปิด สำหรับการแท้งที่ยังมีบางส่วนของรกค้างอยู่ในโพรงมดลูก จะมีเลือดออกไม่หยุด บางรายออกมากจนหมดสติ ซึ่งมีอันตรายมากต้องรีบพาส่งโรงพยาบาล เพื่อขูดมดลูกเอาส่วนที่ค้างอยู่ออก
สำหรับการแท้งที่เกิดจากการกระทำให้แท้งแบบผิดกฎหมายมีอันตรายมากที่สุด เพราะนอกจากจะมี “การตกเลือด” เนื่องจากมดลูกทะลุ ปากมดลูกฉีกขาดแล้ว เครื่องมือที่ใช้ในการทำแท้ง หรือน้ำยาต่างๆ ตลอดจนวิธีการทำยังสะอาดไม่พอ ทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูก อาจร้ายแรงจนกระทั่งมดลูกเน่า หรือลุกลามไปทั่วช่องท้อง ซึ่งจะทำให้มีไข้สูง เจ็บปวดมาก มีหนองหรือเลือดที่มีกลิ่นเหม็นเน่าออกทางช่องคลอด ทำให้ต้องตัดมดลูกทิ้ง ซึ่งผลจากการทำแท้งชนิดนี้มีจำนวนไม่น้อยที่ถึงแก่ชีวิตด้วยการติดเชื้อดังกล่าว
การรักษาการแท้ง การแท้งแต่ละชนิด และแต่ละอายุของครรภ์มีวิธีให้การรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อมีหรือเข้าใจว่าอาจจะมีการแท้งเกิดขึ้น ควรได้รับการตรวจจากแพทย์โดยตรง การปฏิบัติตัวเมื่อมีเลือดออกก่อนไปพบแพทย์ คือ พักผ่อน ไม่ทำงานหนัก ไม่ยกหรือเข็นของหนัก ใส่ผ้าอนามัยไว้ตลอดเวลา ดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้มากๆ แล้วรีบไปพบแพทย์
- อ่าน 10,125 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้