ไวรัสอาจเป็นสาเหตุของมะเร็ง ภายหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ
จากการศึกษาติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนไต ทั้งอาการทางคลินิก ได้มีข้อบ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคหูดในคน คือ ไวรัสแพ็ปพิลโลม่า เป็นตัวการก่อมะเร็งภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ
คณะผู้วิจัยจากสก็อตแลนด์แนะนำว่า ควรจะต้องมีการตรวจสอบผิวหนังของผู้ป่วยที่กำลังจะผ่าตัดเปลี่ยนไตให้ดีทั้งก่อนและหลังผ่าตัดว่า ผู้ป่วยมีอาการมะเร็งที่ผิวหนัง หูดจากเชื้อไวรัส หรือแผลลักษณะอื่นที่มีสาเหตุจากไวรัสหรือไม่
ทั้งนี้เนื่องจากการศึกษาติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนไตมากกว่า 200 ราย ทั้งอาการทางคลินิก การเปลี่ยนแปลงทางเนื้อเยื่อ และตรวจหาเชื้อไวรัส ได้มีข้อบ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคหูดในคน คือ ไวรัสแพ็ปพิลโลม่า (papilloma virus) เป็นตัวการก่อมะเร็งภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ
นอกจากนั้น คณะผู้วิจัยจากเอดินเบิร์กยังได้แนะนำว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนไตควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดด เพราะรังสีอัลตราไวโอเลตจะมีส่วนทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 75 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตมาแล้วนาน 5 ปี มักจะเป็นหูดจากเชื้อไวรัส ร้อยละ 38 ผิวหนังแข็ง และร้อยละ 12 มักเป็นมะเร็งที่ผิวหนังในลักษณะอื่นๆ มะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุด คือ มะเร็งของเซลล์บุผิว (Squamous cell carcinoma)
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจะมีอาการของมะเร็งผิวหนังในภายหลังน้อยกว่าผู้ป่วยที่มีอายุมาก คือ จะเป็นหูดร้อยละ 20 ผิวหนังแข็งด้านร้อยละ 17 มะเร็งผิวหนังร้อยละ 1.5
คณะผู้วิจัยได้ทำการตรวจหาเชื้อไวรัสแพ็ปพิลโลม่าในผู้ป่วย 154 ราย ปรากฏว่า ตรวจพบดีเอ็นเอของไวรัสนี้ในผู้ป่วยมะเร็งของเซลล์บุผิวร้อยละ 60 พบในผู้ป่วยที่เป็นหูดร้อยละ 16 และผิวหนังแข็งร้อยละ 16 มีการตรวจพบเชื้อไวรัสสูงมากอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีอาการมะเร็งผิวหนังมากกว่าอาการชนิดอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อไวรัสในแผลชนิดอื่นๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นเนื้อร้ายในภายหลัง
การค้นพบนี้ได้เพิ่มน้ำหนักให้กับข้อถกเถียงที่ว่า การผ่าตัดเปลี่ยนไตที่มีการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นหูดอยู่แล้วนั้น ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น
(จาก Virus blamed for transplant cancers. Far East Health 1989;7:17)
- อ่าน 2,803 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้