ปวดหัว ( ตอนที่ 3 )
คนไข้รายที่ 4
นักศึกษาแพทย์อายุ 18 ปี มีอาการปวดหัว เวียนหัว และตาพร่ามัว ขณะฟังการสอนของอาจารย์อยู่ในห้องเรียน จนต้องนั่งฟุบลงกับโต๊ะ เมื่ออาจารย์สอนเสร็จแล้วจึงถามว่า
อาจารย์ : “เธอเป็นอะไรไป หน้าซีดจัง แล้วก็ฟุบหลับตลอดครึ่งชั่วโมงหลังที่ครูสอน”
นักศึกษา : “ไม่ทราบครับ กำลังฟังและจดสิ่งที่อาจารย์สอนอยู่ดี ๆ ตามันเกิดฝ้าฟางขึ้นมา มองเห็นหน้าอาจารย์เป็นสอง กระดานดำเป็นสอง เป็นภาพซ้อนกันอยู่ครับ ต่อมาผมก็เห็นหน้าอาจารย์เพียงครึ่งเดียว ครึ่งขวาเป็นฝ้าขาวไปหมด กระดานดำและสิ่งอื่น ๆ ก็เช่นกัน ซีกขวาเป็นฝ้าขาวไปหมด
อีกไม่นานต่อมา ผมก็ปวดหัวรุนแรง และมีอาการเวียนหัวคล้ายบ้านจะหมุนด้วย
ต่อมามีอาการคลื่นไส้ อยากจะอาเจียน จึงฟุบลงกับโต๊ะครับ แล้วเลยหลับไปชั่วครู่ พอตื่นขึ้นมาเมื่ออาจารย์สอนเสร็จ จึงรู้สึกดีขึ้นครับ ผมเป็นอะไรครับ อาจารย์”
อาจารย์ : “เธอเคยเป็นมาก่อนมั้ย”
นักศึกษา : “ไม่เคยครับ เคยแต่ปวดหัวธรรมดาเวลาดูหนังสือมาก ๆ แต่ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน”
อาจารย์ : “2-3วันนี้ ไปทำอะไรมาหรือเปล่า นอนหลับดีหรือเปล่า”
นักศึกษา : “ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษครับ เพียงแต่ดูหนังสือดึกหน่อย เพราะสัปดาห์หน้าจะสอบสรีรวิทยา พอนอนผิดเวลาเลยนอนไม่ค่อยหลับครับ”
อาจารย์ : “แล้วในบ้านมีใครปวดหัวแบบนี้บ้างมั้ย”
นักศึกษา : “เอ...ดูเหมือนคุณแม่จะเคยปวดหัวบ่อย ๆ และมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียนเวลาปวดหัวด้วยครับ”
อาจารย์ : “แล้วคุณแม่ทำอย่างไร”
นักศึกษา : “คุณแม่จะกินยาที่หมอให้ไว้ แล้วนอนพัก เมื่อตื่นขึ้นมาก็หายครับ”
อาจารย์ : “ถ้าอย่างนั้น เธอคงเป็นโรคเดียวกับที่คุณแม่เป็น”
นักศึกษา : “โรคอะไรครับ”
อาจารย์ : “อ้าว...เธอไม่รู้ว่าคุณแม่เป็นโรคอะไรหรือ”
นักศึกษา : “ไม่รู้ครับ เพราะหมอไม่เคยบอกคุณแม่ว่าเป็นโรคอะไร”
อาจารย์ : “แล้วคุณแม่ไม่ได้ถามหมอหรือ”
นักศึกษา : “เปล่าครับ คุณแม่เกรงใจหมอ เห็นหมอมีคนไข้มากเลยไม่กล้าถามครับ”
อาจารย์ : “ที่จริงไม่ควรเกรงใจหมอ เพราะการถามว่าตนเองเป็นโรคอะไร และควรจะปฏิบัติรักษาตนอย่างไรให้ดีขึ้นโดยเร็วที่สุด และไม่เป็นอีก เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของคนไข้ที่จะถามหมอได้ จะได้นำไปปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้หายจากโรคโดยเร็วที่สุด และป้องกันไม่ให้กลับเป็นใหม่ได้อีก โรคที่เธอและคุณแม่เป็น เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าไมเกรน (migraine) หรือชาวบ้านอาจเรียกว่า ‘ลมตะกัง’ ซึ่งเป็นอาการปวดหัวที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดและการนอนไม่หลับ อาจเกิดอาการในขณะที่ความเครียดเริ่มผ่อนคลายหรือหายเครียดแล้วก็ได้ และมักมีประวัติอาการดังกล่าวในครอบครัวที่มีสายเลือดเดียวกันด้วย”
นักศึกษา : “แล้วผมควรปฏิบัติตนอย่างไรครับ”
อาจารย์ : “เมื่อเธอรู้แล้วว่า โรคนี้สัมพันธ์กับความเครียดและการนอนไม่พอ เธอก็ควรจะป้องกันตนเองจากความเครียด และการนอนไม่หลับ”
นักศึกษา : “แล้วผมจะป้องกันความเครียดและการนอนไม่หลับได้อย่างไรครับ”
อาจารย์ : “ความเครียดมักเกิดจาก 2 สิ่งคือ
1. สิ่งท่ากระทบ ซึ่งเกือบทั้งหมดจะอยู่ในลักษณะ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
2. สิ่งที่ถูกกระทบ คือตัวเราเอง
เราคงป้องกันสิ่งที่มากระทบได้ยาก นอกจากว่าเราสร้างสิ่งนั้นด้วยตัวเราเอง เช่น คิดไปเองว่าเราจะสอบตก เราจะเรียนไม่ทันเพื่อน เป็นต้น ซึ่งเราพอจะป้องกันได้ โดยเลิกคิดในสิ่งที่ไม่ดีและคิดแต่ในสิ่งที่ดีหรือในส่วนที่ดีของตัวเราเองและของผู้อื่น
ส่วนสิ่งที่มากระทบเราจากภายนอก เช่น เกิดจากคนอื่น เกิดจากสิ่งแวดล้อม เราคงป้องกันได้ยาก ดังนั้นเราจึงควรป้องกันที่ตัวเราเอง
นั่นคือ เราต้องฝึกตนเอให้มีความหนักแน่น อดทนอดกลั้น ไม่หวั่นไหวหวาดกลัวในสิ่งต่าง ๆ มีสติคิดหาเหตุผลและสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นแล้วหาทางแก้ไขเสีย ถ้าเห็นว่าเรายังไม่มีปัญญาจะแก้ไขเองได้ ก็ต้องหาคนอื่นช่วยแล้วก็ยังไม่สำเร็จ เราก็ต้องวางเฉยเสีย แล้วให้เวลาและธรรมชาติได้ช่วยคลี่คลายปัญหาและความเครียดให้เรา
นักศึกษา : “แล้วเรื่องนอนไม่หลับล่ะครับ”
อาจารย์ : “เธอเอาหนังสือเรื่อง “นอนไม่หลับ” (ของสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน) เล่มนี้ไปอ่านเอาเองก็แล้วกัน”
แต่เมื่อเธอเป็น “ลมตะกัง” หรือ “ไมเกรน” การใช้ยาอะมิทริปไทลินขนาด 10 หรือ 25 มิลลิกรัม สัก 1 เม็ดหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน จะช่วยคลายเครียดและความขัดแย้งกังวลภายในลงได้ ซึ่งจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น และจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการ “ลมตะกัง” บ่อย ๆ ได้และเมื่อเกิดอาการ อาการก็จะไม่รุนแรงนัก
ส่วนเวลาที่มีอาการ ในขณะที่เริ่มมีอาการ เช่น เริ่มมีอาการตาพร่ามัว หรือรู้สึกเวียนหัว หรือรู้สึกแปลก ๆ ซึ่งหลายคนจะมีอาการนำ (prodromal symptoms หรือ aura) ต่าง ๆ นำมาก่อนจะมีอาการปวดหัวรุนแรง เธอควรใช้ยาระงับ เช่น ยาพวกเออร์กอต (ergot alkaloids) เช่น เออร์โกตมีน (ergotamine) ขนาดเม็ดละ 1 มิลลิกรัม หรือที่ขายผสมอยู่กับกาเฟอีน (caffeine) 100 มิลลิกรัม เช่น ยาคาเฟอร์กอต (cafergot) กินสัก 1-2 เม็ดทันทีที่เริ่มจะมีอาการ (ในขณะที่มีอาการนำมาก่อนอาการปวดหัว) ก็อาจจะระงับหรือบรรเทาอาการปวดหัวที่จะเกิดตามมาได้ แต่เมื่อปวดหัวแล้ว ก็ควรช้าแก้ปวด เช่น แอสไพริน และ/หรือพาราเซตามอลครั้งละ 1-2 เม็ดทันที อาจใช้ทั้ง 2 ชนิดร่วมกันก็ได้
ถ้าปวดมาก ควรกินยาคลายกังวล เช่น ยาไดอะซีแพม (diazeam) ขนาดเม็ดละ 2 หรือ 5 มิลลิกรัมร่วมกับยาแก้ปวด แล้วเข้านอนเสีย
ถ้าหลับได้ เมื่อตื่นขึ้นมา อาการปวดจะหายไป แต่อาจจะมีอาการเวียนหัว หรืออาการ “หัวตื้อ ๆ” (ไม่ค่อยปลอดโปร่งแจ่มใส) เหลืออยู่ได้
โรค “ไมเกรน” หรือ “ลมตะกัง” เป็นอาการปวดหัวที่เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองมีการตีบตัวและขยายตัวสลับกันอย่างผิดปกติ โดยสัมพันธ์กับควาเครียดหรือการดีขึ้นจากความเครียด การนอนไม่หลับ (นอนไม่พอ) หรือนอนมากเกินไป การมีระดู (มีประจำเดือน) หรือการกินอาหารและเครื่องดื่มบางประเภทที่ไม่ถูกกับตน เป็นต้น
โรคนี้มักมีประวัติกรรมพันธุ์ (มีพ่อแม่พี่น้องเป็นด้วย)
อาการปวดหัวมักจะเริ่มที่ซีกใดซีกหนึ่ง (ซีกขวาหรือซ้าย) แล้วต่อมาจะปวดทั้งหัวถ้าเป็นมาก (บางคนอาจปวดทั้งหัวตั้งแต่แรก) มักปวดตุ๊บ ๆ และปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และรุนแรงสุดภายในครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง และอาจปวดอยู่นานเป็นวัน ๆ ได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา
อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเวียนหัว อารมณ์เปลี่ยนแปลง หิวข้าวและ/หรือน้ำผิดปกติ บวม ตาพร่ามัว อัมพฤกษ์ หรืออาการแปลก ๆ อื่น ๆ นำมาก่อน หรือเกิดขึ้นร่วมกับอาการปวดหัวได้ อาการเหล่านี้อาจหายไปก่อนหรือหลังหรือพร้อมกับอาการปวดหัวก็ได้
แม้ว่าอาการปวดหัวจะรุนแรง และบางครั้งรู้สึกเหมือนว่าหัวจะระเบิดออก แต่เกือบทั้งหมดจะหายเป็นปกติเองได้แม้จะไม่ได้รับการรักษา แต่ถ้าได้รับการศึกษา อาการปวดหัวอาจจะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นก็ไม่รุนแรงและหายได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่ต้องหวาดกลัวหรือห่วงกังวล จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น และเป็นนานออกไปอีก หรือเป็นบ่อยขึ้น
โรค “ไมเกรน” หรือ “ลมตะกัง” นี้เป็นอาการปวดหัวที่พบบ่อยมากที่สุด พอ ๆ กับโรค “ปวดหัวจากความเครียด” (tension headache) แต่โรค “ปวดหัวจากความเครียด” มักไม่มีอาการรุนแรง และไม่มีอาการร่วมอื่น ๆ และคนไข้มักรู้ตัวเองได้ดีว่า คนปวดหัวจากความเครียด เมื่อผ่อนคลายความเครียดลง อาการปวดหัวก็จะดีขึ้นโดยเร็วและมักไม่จำเป็นต้องช้ายาแก้ปวดหรือยาคลายกังวล ซึ่งผิดกับ “ไมเกรน” หรือ “ลมตะกัง” แต่ถ้าเป็นมาก ก็ใช้ยาและวิธีรักษาแบบเดียวกัน แต่ไม่ต้องใช้ยาพวกเออร์กอตเท่านั้น
วิธีป้องกันและรักษา “โรคไมเกรน” หรือ “ลมตะกัง” ได้กล่าวไว้ในบทสนทนาแล้ว
- อ่าน 8,291 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้