....น่านเป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือของประเทศที่เงียบสงบ และน่าอยู่สำหรับหลายๆคน ด้วยความชื่นชมในวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ และอัธยาศรัยของผู้คน จำนวนนักท่องเที่ยวและผู้คนที่หลั่งไหลเข้าไปเยี่ยมสถานที่ต่างๆในจังหวัดน่าน จึงมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ โรงแรมใหม่ๆ รีสอร์ทและการลงทุนทางธุรกิจเริ่มเบ่งบานอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา....
….กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่คนเมืองน่านต้องประสบคือ ผืนป่าแปลงใหญ่ใน 15 อำเภอของจังหวัดค่อยๆหดหายไป เกิดสภาวะภูเขาหัวโล้นซึ่งถูกทดแทนด้วยไร่ข้าวโพดและสวนยางพารา ซึ่งเป็นสภาวะเช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัดในประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยมีป่าไม้เหลือเพียง 20กว่าเปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ประเทศ หรือประมาณ 120 ล้านไร่ และมีอัตราการถูกบุกรุก ทำลาย ประมาณปีละ 1 ล้านไร่ ซึ่งถ้าอัตราการสูญสียป่าเป็นเช่นนี้ อีกไม่ถึง 100 ปี เราก็จะไม่มีป่าไม้หลงเหลือเลย แน่นอนว่าแปลงเกษตรที่เกิดขึ้นจากการบุกรุกป่าเหล่านี้ใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก....
ในช่วงปี 2557 ที่ผ่านมามีการตรวจวิเคราะห์ตรวจน้ำอุปโภคบริโภคในจังหวัดน่าน โดยใช้ห้องปฏิบัติการของคณะวิศวกรรมศษสตร์ ม.นเรศวร ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด และภาคี โดยสุ่มเก็บตัวอย่างตั้งแต่น้ำใต้ดิน น้ำดิบที่จะนำมาผลิตเป็นน้ำประปา ไปจนถึงน้ำดื่มบรรจุขวดที่ผลิตโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนในพื้นที่ โดยตรวจหาการปนเปื้อนของยากำจัดวัชพืช 3 ชนิด (Paraquat, Glyphosate, Atrazine) และยาฆ่าแมลง 1 ชนิด (กลุ่ม Chlorpyrifos) ผลลัพธ์ที่ออกมาค่อนข้างน่าตกใจว่า น้ำเกือบทุกตัวอย่าง แม้กระทั่งน้ำดื่มบรรจุขวดพบปริมาณสารพิษเหล่านี้เกินมาตรฐานทั้งสิ้น บางจุดเกินเป็น 100 เท่าของที่ควรจะเป็น
ในแต่ละปีประเทศไทยมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกว่า 400 ชนิด ในจำนวนนี้มีถึงไม่น้อยกว่า 155 ชนิดที่เป็นสารที่มีอันตราร้ายแรง (Highly Hazardous Pesticide, HHPs) ซึ่งสารที่มีลักษณะเข้าเกณฑ์ดังกล่าว จะมีคุณลักษณะ คือ
- มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง
- มีความเป็นพิษเรื้อรัง เช่น ก่อมะเร็ง ก่อกลายพันธ์ เป็นพิษต่อระบบสืบพันธ์ รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ
- มีพิษต่อสิ่งแวดล้อม สะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน
Glyphosate เป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีปริมาณการนำเข้าสูงสุด มีมูลค่าการตลาดสูงถึงเกือบหมื่นล้านบาท จากปริมาณการนำเข้ากว่า 63 ล้านกิโลกรัมในปี 2557 ในสหรัฐอเมริกาเคยประสบปัญหาการปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดิน น้ำดื่มมาแล้ว นานาประเทศได้ทยอยประกาศจำกัดการใช้ไปจนถึงการยกเลิกการใช้ไปแล้ว เพราะพบว่าเหนี่ยวนำให้เซลมะเร็งแพร่กระจายเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังไปจับกับโลหะหนักก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรัง รวมทั้งมีพิษต่อระบบประสาท นอกจากนี้ยังมีการตกค้างในน้ำนมของแม่ที่ให้นมบุตร จึงมีหลายประเทศที่เริ่มห้ามใช้และจำหน่าย ในบางประเทศห้ามใช้ในเขตสวน บ้านเรือน และพื้นที่สาธารณะ
ส่วน Paraquat เป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีปริมาณการนำเข้ามากเป็นอันดับสอง คือ 21 ล้านกิโลกรัมในปี 2557 เป็นยาฆ่าหญ้าที่มีพิษสูงและไม่มียาต้านพิษ เป็นสารที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ เนื่องจากเป็นสารเคมีที่ไม่ระเหย จึงแขวนลอยอยู่ในอากาศเป็นอนุภาคและล่องลอยกระจายไปได้ มีการตกค้างที่ยาวนานในดินได้ถึง 20 ปี ในประเทศไทยมีรายงานการตกค้างของยาตัวนี้ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำสงครามและแม่น้ำจันทบุรี เกิดความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ
ขณะนี้มีประเทศที่ห้ามใช้และห้ามจำหน่ายโดยเด็ดขาดแล้วกว่า 30 ประเทศ รวมทั้งประเทศลาว และกัมพูชา แต่ยังมีขายกันทั่วไปในประเทศไทย
ส่วนคลอร์ไฟร์ฟอสนั้นเป็นสารกำจัดแมลงที่ถูกนำเข้าสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ 2 ล้าน 3 แสนกิโลกรัมในปี 2557 และเป็นยาที่มักพบตกค้างอยู่ในผักต่างๆที่ขายอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี พริกชนิดต่างๆ รวมทั้งผลไม้หลายชนิด พิษของยาตัวนี้เกิดขึ้นที่ระบบประสาทโดยตรง ส่งผลต่อความผิดปกติทางอารมณ์ ภาวะซึมเศร้า โดยไปทำลายสารสื่อประสาท ทำให้ส่งผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทของทารก ซึ่งอาจมีผลไปตลอดชีวิต
ในยุโรปมีการห้ามใช้ยาตัวนี้มาหลายปีแล้ว ในสหรัฐอเมริกาก็มีการจำกัดการใช้มากขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร์และอินโดนีเซียก็เช่นเดียวกัน แต่ในประเทศไทยยังขายกันอยู่ทั่วไปโดยเสรี
สำหรับ Atvazine เป็นยาฆ่าวัชพืชที่ใช้กันมากว่า 50 ปี มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่ายาตัวนี้ทำให้ Hormone ไม่สมดุลย์ในสัตว์ทำให้กบตัวผู้แปลงเพศ ล่าสุดพบว่าอาจมีผลต่อการทำงานของต่อมน้ำนมในคน ทำให้สหภาพยุโรป (อียู) สั่งห้ามใช้มาตั้งแต่ปี 2547 , อาทราซีน เป็นสิ่งที่ต้องสงสัยอันดับต้นๆว่าเป็นต้นเหตุทำให้สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วโลกมีจำนวนลดลง
ปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในน้ำและดิน เป็นปัญหาใหญ่ , เรื้อรัง และยาวนานมากสำหรับประเทศไทย ไม่ได้เกิดขึ้นและเป็นปัญหาเฉพาะในพื้นที่จังหวัดน่าน แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น “ทุกย่อมหญ้า” ของประเทศ จน ศจ.นพ.ประเวศ วะสี เคยกล่าวไว้ว่าขณะนี้คนไทยอาศัยอยู่บนแผ่นดิน “อาบยาพิษ” หลังจากรายการพลิกปมข่าว ไทยพีบีเอส นำเสนอข่าวเรื่องสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำจังหวัดน่าน เมื่อต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ก็เกิดความตื่นตัวในระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้จัดการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีคำถามตามมามากมายว่า คณะทำงานระดับจังหวัดจะจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร
หน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,กระทรวงสาธารณสุข ,นักการเมืองบางคนที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจค้ายาฆ่าวัชพืช , ยาฆ่าแมลงในประเทศไทย , ผู้ประกอบการแปลงสวนผักและผลไม้ ,ไร่ข้าวโพดคงต้องเป็นจำเลยอันดับต้นสำหรับปัญหาดังกล่าวนี้
ส่วนเราท่านทั้งหลายที่เป็นผู้บริโภค ก็คงต้องช่วยกันระแวดระวัง, มีจิตสำนึกด้านวิถีออแกนิค ,การปลูกผักกินเอง , การกินผักและผลไม้อย่างมีสติ ,ไปจนถึงการสร้างความรู้ ความตระหนักและความเข้าใขกับประชาชน ในการขับเคลื่อน การลดใช้สารเคมีเพื่อช่วยลดปัญหา ที่ทุกวันนี้ แผ่นดินไทยตกอยู่ในสภาพ “ในน้ำมีแต่ยา ในนามีแต่สารพิษ” เต็มไปหมด.............
- อ่าน 7,759 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้