...ในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2561 คือในอีก 2 ปีข้างหน้า จะเป็นปีที่ระบบการสาธารณสุข (แผนปัจจุบัน)ของไทยมีวาระอายุครบรอบ 100 ปี...
...ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณาการงานด้านการแพทย์และการสุขาภิบาลมาอยู่ด้วยกันในความรับผิดชอบของหน่วยงานใหม่หน่วยหนึ่ง โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอธิบดีคนแรก หน่วยงานใหม่นี้มีชื่อว่า “กรมสาธารณสุข” สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมามีการยกฐานะเป็นกระทรวงการสาธารณสุข (เมื่อปี พ.ศ. 2485) การตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2461 นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการสาธารณสุขไทย
....ในวาระดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายสาธารณสุข 50 องค์กร จึงได้เตรียมการจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี การสาธารณสุขไทย (2461 – 2561) ขึ้น โดยได้มีการบันทึกข้อตกลงร่วมมือกัน เริ่มวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
.....กิจกรรมที่สำคัญของงานดังกล่าวคือ
1. การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ถาวรและหอจดหมายเหตุขึ้นภายในกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ และการพัฒนาของงานสาธารณสุขในด้านต่างๆ
2. การปรับปรุงภูมิสถาปัตย์ สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยทำให้โรงพยาบาลทุกระดับเป็นพื้นที่สัปปายะ (สบาย) แก่ผู้คนที่ต้องไปใช้บริการมากขึ้น
3. การส่งเสริมการศึกษาวิจัย และงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์สาธารณสุข โดยมอบหมายให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดทำแผนและระบบการสนับสนุน
4. สำรวจผู้สูงวัยอายุ 100 ปี หรือมากกว่าทั่วประเทศ เพื่อการเรียนรู้และสร้างความตระหนักคุณค่าของการมีอายุยืนยาว
5. คัดเลือกบุคคลต้นแบบในประวัติศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งมีทั้งข้าราชการ อาสาสมัคร และแม้กระทั่งชุมชนต้นแบบ
6. ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษา ร่วมมือกับสภาวิชาชีพ และภาคเอกชน สร้างและผลิตบุคคลากรเพื่อถวายเทอดพระเกียรติเป็นการพิเศษเฉพาะสำหรับวาระแห่งการเฉลิมฉลองครั้งนี้
7. จัดทำหนังสือ “100 เรื่องสุขภาพต้องรู้ คู่ครัวเรือน” เพื่อเป็นคู่มือให้ความรู้สำคัญๆในชีวิตประจำวัน และเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
งานครั้งนี้จะแตกต่างจากกิจกรรมครบรอบวาระที่หน่วยงานต่างๆนิยมจัดกัน ซึ่งมักเน้นกิจกรรม (Event) ในรูปแบบต่างๆ แต่สำหรับงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย จะมีเวลาดำเนินการถึง 3 ปี คือตั้งแต่ตุลาคม 2559 – กันยายน 2562 โดยยุทธศาสตร์การดำเนินการจะเน้นทั้ง 3 มิติด้วยกัน อันได้แก่
1. การเฉลิมฉลอง (Celebration) เช่น การจัดงานมหกรรม การจัดงานแสดงผลงานด้านสุขภาพ การประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะให้ความสำคัญสูงสุด (Peak) ในปี 2561 – 2562
2. การจัดกิจกรรม (Event) ในรูปแบบต่างๆ เช่น การปลูกต้นไม้, การจัดสัปดาห์รณรงค์เรื่องสุขาภิบาล การเผยแพร่ภาพยนต์สารคดีประวัติศาสตร์
3. การวางระบบ (System) ในเรื่องใหม่ๆ หรือเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในยุคโลกาภิวัฒน์ เช่น การดูแลผู้สูงวัย การพัฒนาโรงพยาบาลให้มีระบรรยากาศที่รื่นรมย์ การพัฒนาแพทย์แผนไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ภาพลักษณ์และประจักษ์พยานแห่งความสำเร็จของการสาธารณสุขไทย ซึ่งจะนำไปสู่จังหวะก้าวใหม่ๆในการพัฒนาการสาธารสุขไทยในศตวรรษ 100 ปี ที่สองให้ก้าวหน้า และตอบสนองความต้องการของสังคมได้ดีขึ้นๆไปยิ่งกว่าเดิม...
- อ่าน 3,398 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้