“วารินชำราบ แปลว่า น้ำซาบซึมซับ เป็นหนึ่งในอำเภอที่มีชื่อไพเราะที่สุดในประเทศไทย”
เทศบาลวารินชำราบ ต้องรับผิดชอบขน และจัดการขยะ ในพื้นที่ของตนเองประมาณวันละ ๒๕ ตัน แต่ที่เป็นตัวหลักเลยคือ ขยะจากเทศบาลนครอุบลราชธานี ถึงวันละ ๘๐ ตัน นอกจากนั้น ยังมีขยะจาก อบต. และเทศบาลในอำเภออีก ๔-๕ อำเภอ ที่ส่งมายังพื้นที่กลบฝัง และแยกขยะในตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ ซึ่งมีเนื้อที่ ๒๘๒ ไร่
ท่านนายกเทศมนตรี เทศบาลวารินชำราบ นายจีรชัย ไกรกังวาน มีรถขยะอยู่ในความดูแลเพียงแค่ ๗ คัน ขยะส่วนใหญ่จึงถูกขนมาโดยรถขยะของเทศบาลข้างเคียงเอง และรวมทั้งขยะของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งมีขยะหลายตันต่อวัน โดยเป็นขยะติดเชื้อวันละประมาณ ๑ ตัน จึงต้องพิถีพิถันและใส่ใจต่อการเคลื่อนย้าย ขนส่ง และทำลายเป็นกรณีพิเศษ
ขยะเหล่านี้ จากการศึกษาวิจัยของเทศบาลพบว่าเป็นขยะย่อยสลายได้ (เช่น ใบไม้, เศษอาหาร) ประมาณ ๓๘.๕% เป็นถุงพลาสติค ๑๒% ภาชนะพลาสติค ๕.๕% เศษแก้วและขวดแก้ว ๑๓% กระดาษ ๕.๕% และโลหะประมาณ ๑% ซึ่งเกือบทั้งหมดหากมีการคัดแยกและบริหารจัดการที่ดีก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เกือบทั้งหมด
ขยะย่อยสลายได้ สามารถเอาไปทำเป็นปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ผลิตแก๊สธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งผ่านกระบวน Paralysis เป็นน้ำมันที่ใช้กับเครื่องยนต์เบนซินได้
ถุงพลาสติคและภาชนะพลาสติค สามารถนำไปล้าง ผึ่งแห้ง บดสลาย แล้วรีดออกมาเป็น พลาสติคเส้น และเม็ด บรรจุถุง นำไปจำหน่ายต่อให้โรงงานพลาสติคได้ถึงกิโลกรัมละ ๒๐ บาท
กล่องนม และเครื่องดื่มต่างๆที่เป็นกระดาษแข็ง สามารถนำมาบดอัด ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ แทนไม้อัดได้ นำมาทำเป็นพื้นโต๊ะ พนักเก้าอี้
ภาชนะแก้ว และกระป๋องโค้กโลหะต่างๆ สามารถขายต่อให้โรงงานอุตสาหกรรมนำไปแปรรูปใช้ใหม่ได้
การดำเนินงานดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนและใช้งบประมาณของเทศบาลเอง แต่ในส่วนของการลดปริมาณขยะ และแยกขยะแต่ต้นทางจะช่วยทำให้มีขยะต้องเก็บโดยเทศบาลน้อยลง ทางเทศบาลได้ใช้งบกองทุนสุขภาพระดับพื้นที่ (สปสช. vs. ท้องถิ่นร่วมลงขัน) ไปในการ
- จัดตั้งชุมชนตัวอย่างในการจัดการขยะ
- อบรมผู้นำชุมชนและชาวบ้านให้มีความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ, การทำปุ๋ยหมัก, การนำขยะย่อยสลายไปใช้ประโยชน์
- ซื้อถังขยะแจกแก่ครัวเรือน
- ตรวจสุขภาพประจำปี ให้แก่พนักงานเทศบาลและชาวบ้านที่ทำหน้าที่แยกขยะ และสัมผัสขยะในพื้นที่หลักของเทศบาล
หากใครต้องการดูรูปแบบการจัดการขยะในระดับมหภาคจังหวัด ก็ต้องไปดูที่ภูเก็ต หากเป็นระดับอำเภอต้องที่วารินชำราบ หากเป็นที่ระดับชุมชนตำบล หรือหมู่บ้าน ก็ต้องไปดูที่ อำเภอพังโคน สกลนคร
กองทุนสร้างเสริมสุขภาพพื้นที่ตำบล ถือเป็นกลไกสำคัญอีกอันหนึ่งที่จะช่วยให้ชุมชนพื้นที่ มีความสามารถในการจัดการขยะได้ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ซึ่งลดการพึ่งพิงและการสั่งการผูกขาดจากส่วนกลางได้เป็นอย่างดี
นี่คืออานิสงค์อีกรูปธรรมหนึ่ง ของกองทุนสร้างเสริมสุขภาพพื้นที่ ที่บริหารร่วมกันระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
- อ่าน 10,184 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้