เฉียดตายจากภาวะไตวายเรื้อรัง (๓)ฟอกเลือดครั้งแรก
และห้องไตเทียม
ใบพลู
เฉียดตายจากภาวะไตวายเรื้อรัง
ถ่ายทอดจากประสบการณ์ของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ทยอยลงเป็นตอนๆ เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ป่วยรายอื่นๆ และญาติ รวมถึงผู้อ่านที่สนใจว่าเมื่อมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา ก็ควรจะต้องดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง และอย่ามองข้ามอาการผิดปกติใดๆ ที่เกิดขึ้น
ในฉบับที่แล้วได้รักษาตัวที่โรงพยาบาลในตัวเมืองนครราชสีมา ไม่ประทับใจในการดูแลรักษา จึงขอย้ายมารักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ
๕.ฟอกเลือดครั้งแรก
จากนครราชสีมาถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเกือบ ๕ ชั่วโมง ตั้งแต่รถพยาบาลวิ่งเข้า มาในเขตกรุงเทพฯ มีการเลี้ยวหลายครั้ง จนกระทั่งมาจอดนิ่ง มีพยาบาลผู้ชายหลายคนรับออกจากรถอย่างกุลีกุจอ เห็นความวุ่นวายอย่างรีบร้อนรอบๆ ตัว จึงหลับตาลงเพราะไม่ต้องการเห็น ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น
พยาบาลเข็นรถขึ้นลิฟต์มาชั้น ๒ เข้าห้องไอซียู ถึงแม้จะเป็นเพียงระยะทางสั้นๆ ก็ทำให้เวียนศีรษะจนแทบจะอาเจียน
เมื่อทุกอย่างสงบนิ่ง ค่อยๆ ลืมตาขึ้นมองไปรอบๆ ตัว เป็นห้องค่อนข้างกว้าง มีหมอผู้ชายมาทักทายด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม และอธิบายว่าจะต้องเจาะไหปลาร้าข้างขวา เพื่อใส่ท่อพลาสติกเข้าหลอดเลือดใหญ่ เพื่อฟอกเลือดอย่างเร่งด่วน ณ เวลานี้ทำได้เพียงการพยักหน้า รับรู้และเข้าใจ
หมอฉีดยาชาให้ก่อน แล้วใช้เข็มเจาะ ๒ ครั้ง แต่ ละครั้งจะมีท่อพลาสติกแข็งคาอยู่ที่บริเวณไหปลาร้า สามารถรับรู้ถึงแรงกดของเข็มที่เจาะเข้าเนื้อผ่านไหปลาร้าเจ็บมากจนต้องกัดท่อช่วยหายใจที่ยังคาอยู่ในปากจนฟันระบมไปหมด
หลังจากฝังท่อพลาสติกเสร็จแล้วก็ต้องเอกซเรย์อีกครั้ง เพื่อดูว่าปลายของท่อพลาสติกอยู่ในหลอดเลือดพอดีหรือไม่ ปรากฏว่าทุกอย่างเรียบร้อยดีไม่มีปัญหา ระหว่างที่ยังนอนรออยู่ หมอที่รักษาอยู่เป็นประจำเข้ามาทักทายด้วยสีหน้ากังวลและปลอบใจว่าอาการจะไม่แย่ไปกว่านี้อีกแล้วและจะหายป่วยในเร็ววัน ทำให้รู้สึกดีใจมากและรู้ว่าไม่ตายในสภาพแบบนี้แน่ๆ
หมอได้อธิบายอาการที่เกิดขึ้นว่า เข้าขั้นโคม่าแล้ว เพราะน้ำท่วมปอด มีของเสียในร่างกายมาก เลือดจางมาก ถ้าไปถึงโรงพยาบาลที่นครราชสีมาช้าอีกนิดเดียวก็คงจะช็อกตาย เพราะขาดอากาศหายใจ และจากในรายงานของแพทย์ระบุว่าเจาะช่องท้องเพื่อดึงเอาน้ำออก จากร่างกายมากถึง ๑๐,๒๐๐ ซีซี พร้อมกับดึงของเสียคือยูเรียและครีอะตินินออกด้วย และบอกให้ทำใจให้สบาย ไม่ต้องกังวลอะไรทั้งนั้น อยู่ที่นี่จะปลอดภัยอย่างแน่นอน
ไม่มีเรี่ยวแรงแม้แต่จะขยับมือ ได้แต่ขอบคุณคุณหมอโดยทำปากขมุบขมิบ นึกไม่ออกเลยว่าร่างกายสะสมน้ำได้มากมายขนาดนี้ ทำให้นึกถึงสภาพของตัวเองขณะที่ยังตัวบวมๆ ได้เลย
หลังจากนั้นก็ถูกย้ายมาพักอีกห้องหนึ่ง เล็กกว่าห้องแรกแต่มีเครื่องมือแพทย์สำหรับคนไข้หนักครบถ้วน มีพยาบาลมาเช็ดตัวให้อย่างดี พยาบาลอีกคนหนึ่งเข็นตู้สี่เหลี่ยมขนาดย่อมเข้ามา ข้างหน้าตู้มีขีดๆ บอกตัวเลขมากมาย มีล้อวงกลมเล็กๆ ข้างตู้ มีกระบอกพลาสติกใสๆ ติดอยู่ข้างๆ มีสายท่อพลาสติกเต็มไปหมด
พยาบาลบอกว่าเดี๋ยวจะต้องฟอกเลือด โดยใช้ท่อพลาสติกที่ติดอยู่ที่ไหปลาร้า จะไม่เจ็บเลย การฟอกเลือดครั้งแรกใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง พร้อมกับการใช้เลือดชนิด packed red cell เพราะซีดมากและเพื่อทดแทนเลือดที่เสียไปส่วนหนึ่งในการฟอกเลือดด้วย
มีพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด และจะคอยถามว่ามีอาการอะไรผิดปกติไหม แน่นหน้าอกหรือเปล่า หายใจขัดหรือไม่ ปวดหัวไหม รู้สึกไม่สบายอย่างไรก็ให้รีบบอก เพราะเป็นการฟอกเลือดครั้งแรก และอาการยังอยู่ในสภาวะที่ไม่ค่อยปลอดภัยนัก
ยิ้มให้พยาบาลและมองดูเครื่องทำงานอย่างไม่เข้าใจว่า เครื่องฟอกเลือดได้อย่างไร จนกระทั่งหลับไปด้วยความรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย
๖.ห้องไตเทียม
พักรักษาตัวอยู่ห้องไอซียู ๕ วัน พูดไม่ได้ เพราะท่อช่วยหายใจยังคาอยู่ในปาก ใช้วิธีเขียนตัวหนังสือและ ขอร้องให้พยาบาลไม่ต้องมัดมือทั้งสองข้าง โดยสัญญาว่า จะไม่พยายามดึงท่อช่วยหายใจออก ค่อยๆ พยายามขีดทีละเส้นเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ จนได้ข้อความยาวๆ สามารถสื่อสารกับพยาบาลและหมอได้
เมื่อหมออนุญาตให้เอาท่อช่วยหายใจออกได้ และสายพลาสติกเล็กๆ ที่แขนข้างขวาจากการทำ cut down จากโรงพยาบาลที่ได้ย้ายมา มีความยาวเกือบ ๓ ฟุตจริงๆ และท่อพลาสติกที่จมูกก็เอาออกด้วย รู้สึกโล่งสบายและเป็นอิสระกับการหายใจเองอีกครั้ง อาการที่ร้อนอบอ้าวรอบๆ ตัวก็หายไปด้วย พยายามพูดแต่ไม่มีเสียงเลย ต้องรอเกือบทั้งวันจึงจะมีเสียงแหบๆ ออกมาบ้าง สามารถไอเอาเสมหะออกมาเองได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องดูดเสมหะช่วยอีกแล้ว
ถามพยาบาลว่า เอาท่อช่วยหายใจออกได้แล้ว เพราะอะไร
พยาบาลก็ตอบว่า เพราะค่าออกซิเจนในเลือดวัดได้ ๙๖ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีแล้ว การวัดก็ง่ายนิดเดียว โดยใช้เครื่องมือขนาดใหญ่กว่าไม้หนีบผ้านิดเดียว หนีบไว้ที่นิ้วใดก็ได้ สักพักเดียว ก็จะมีตัวเลขแสดงออกหน้าจอเครื่องเลยหมออนุญาตให้กินอาหารอ่อนได้ จึงเลือกโจ๊กเป็นมื้อแรก และพยายามกินเองจนหมด แถมทำโจ๊กเลอะโต๊ะด้วย เพราะมือยังสั่นและนิ้วมือยังไม่มีแรงพอ พยาบาลอยากจะป้อนให้แต่อยากจะกินเองคนเดียวเงียบๆ และนึกถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา
หมอให้ฟอกเลือดวันเว้นวัน และย้ายจากห้องไอซียู ขึ้นมาอยู่ห้องเดี่ยว โดยมีพี่สาวมาคอยช่วยดูแล พ่อกับแม่ก็สบายใจขึ้นและคอยฟังข่าวอยู่ที่บ้าน พอได้เวลาฟอกเลือด พยาบาลก็นำมาที่ห้องไตเทียม ซึ่งเป็นห้องที่เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรกในชีวิต ห้องกว้างมากมีเตียงคนไข้ประมาณ ๑๐ เตียง ทุกเตียงจะมีเครื่องล้างไตอยู่ข้างๆ ลักษณะเครื่องเป็นตู้เหมือนกับที่ฉันเห็นในห้องไอซียู
วันนี้ไม่ต้องให้เลือดแล้ว พยาบาลบอกว่าจะต้องได้รับการฟอกเลือดที่แขนในคราวต่อๆ ไป...ได้แต่พยักหน้ารับทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจ
(อ่านต่อฉบับหน้า การฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไต)
- อ่าน 14,693 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้