"สารานุกรมทันโรค" ฉบับนี้ว่าด้วยเรื่อง "หัดเยอรมัน"
"หัดเยอรมัน" หรือที่บ้านเราเรียกว่า "เหือด" นั้น เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีอาการไข้ และออกผื่นแดงทั่วตัวคล้ายหัด แต่อาการไม่รุนแรงเท่า ที่สำคัญคือ มีผลรุนแรงต่อทารกในครรภ์ระยะ ๓ เดือนแรก
หากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมันในระยะครรภ์ ๒ เดือนแรก ทารกมีโอกาสพิการถึงร้อยละ ๖๐-๘๕ และ ในระยะเดือนที่ ๓ ทารกมีโอกาสพิการประมาณ ๑ ใน ๓ หากเป็นรุนแรง ทารกอาจแท้งหรือตายในครรภ์ได้
เมื่อพบมารดาเป็นหัดเยอรมันในระยะครรภ์ ๓ เดือนแรก แพทย์มักจะแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์
เคยมีสามีภรรยาคู่หนึ่ง หลังแต่งงานมีบุตรยาก เที่ยวเสาะแสวงหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้มีบุตร ในที่สุดก็ตั้งครรภ์หลังแต่งงานได้กว่า ๑๐ ปี แต่ภรรยาบังเอิญเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ได้ ๒ เดือนกว่า แม้ทราบว่าบุตรที่เกิดมาอาจเสี่ยงต่อความพิการถึง ๑ ใน ๓ ทั้งคู่ตัดสินใจอุ้มครรภ์ต่อไปจนคลอด ขณะเดียวกันก็ไปหาแม่ชีชื่อดังให้นั่งทางในดู แม่ชีพยากรณ์ว่า บุตรจะแข็งแรงดี ในที่สุดปรากฏว่าบุตรเกิดมาแข็งแรงเป็นปกติดี
แม่ชีพยากรณ์ถูก เนื่องเพราะโอกาสที่บุตรจะพิการ คือ ๑ ใน ๓ โอกาสที่จะเป็นปกติคือ ๒ ใน ๓ คำพยากรณ์ของแม่ชีมีโอกาสถูกเป็น ๒ เท่าของโอกาสผิด
เรื่องของสุขภาพ มักมีสถิติหรือตัวเลขที่เกี่ยวกับโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ความพิการหรือการตายอยู่เสมอ
ผมมีญาติคนหนึ่ง ภรรยาตั้งครรภ์เมื่ออายุ ๓๗ ปี คลอดบุตรออกมาเป็นโรคดาวน์ (Down's syndrome) คือมีภาวะปัญญาอ่อน และมีหน้าตาแปลก (ที่มีลักษณะ คล้ายๆ กันทุกคน) แพทย์บอกว่าเป็นเพราะมารดา ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก ลูกจึงกลายเป็นโรคนี้ ญาติผม (สามีของผู้คลอดบุตร) ก็โต้แย้งกับคุณหมอว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมน้องชายคนเล็กของเขาจึงฉลาด เรียนจบเป็นแพทย์ ทั้งๆ ที่มารดาคลอดน้องชายคนนี้เมื่ออายุ ๔๔ ปี
ความสับสนตรงนี้จะหมดไปถ้าเข้าใจสถิติหรือตัวเลขของความเสี่ยง
ทางการแพทย์พบว่ามารดาที่ตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า ๓๐ ปี มีโอกาสเสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคดาวน์ ๑ ใน ๑,๐๐๐ มารดาอายุ ๓๕ ปีมีโอกาสเสี่ยง ๑ ใน ๖๐๐ และอายุ ๔๐ ปีขึ้นไปมีโอกาสเสี่ยง ๑ ใน ๑๐๐ (๑๐ เท่าของมารดาอายุต่ำกว่า ๓๐ ปี) สรุปก็คือ ยิ่งอายุมากก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น
กรณีภรรยาของญาติผมตั้งครรภ์ขณะมีอายุ ๓๗ ปี มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีบุตรเป็นโรคดาวน์ ระหว่าง ๑ ใน ๖๐๐ ถึง ๑ ใน ๑,๐๐๐ บังเอิญ "ถูกหวย" เข้าพอดีที่ได้บุตรเป็นโรคนี้
ส่วนมารดาของญาติผม ตั้งครรภ์ขณะอายุ ๔๔ ปี มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีบุตรเป็นโรคดาวน์ ๑ ใน ๑๐๐ แต่เคราะห์ดีได้บุตรที่ปกติ (โอกาส ๙๙ ใน ๑๐๐) ซึ่งมากกว่าโอกาสมีบุตรเป็นโรคดาวน์ถึง ๙๙ เท่า
จะเห็นว่า โอกาสที่จะมีบุตรเป็นโรคดาวน์นั้นไม่มาก แต่ถ้าบังเอิญพบเข้า ก็เหมือนกับถูกหวย ซึ่งยากมากที่จะพยากรณ์ได้ล่วงหน้าว่า ใครที่จะถูกหวยบ้าง ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการมีบุตรเมื่ออายุมาก
ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง จากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัส ซึ่งแพทย์จะพยายามบอกให้ผู้ป่วยกินยาปฏิชีวนะให้ครบ ๑๐ วัน เป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เพื่อป้องกันโรคแทรกที่รุนแรงชนิดหนึ่ง ได้แก่ ไข้รูมาติก ซึ่งจะทำให้กลายเป็นโรคลิ้นหัวใจพิการเรื้อรังตามมาได้ และสร้างความทุกข์ทรมานและความสิ้นเปลืองในการเยียวยารักษาอย่างมาก แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ เมื่อกินยาปฏิชีวนะ ๒-๓ วัน แล้ว อาการทุเลา ก็ไม่ยอมกินยาให้ครบ ๑๐ วัน เพราะมีประสบการณ์ว่ากินไม่ครบก็ไม่เห็นเป็นโรคแทรกดังกล่าวสักที
สถิติทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยทอนซิลอักเสบเป็นหนองจากเชื้อดังกล่าว ที่กินยาปฏิชีวนะไม่ครบ ๑๐ วัน จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดไข้รูมาติกมีเพียง ๓ ใน ๑,๐๐๐ ถึง ๓ ใน ๑๐๐ เท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมากจนทำให้คนทั่วไปไม่ใส่ใจต่อคำแนะนำของแพทย์
แม้ว่าโอกาสจะน้อยแต่ถ้าหากผู้ป่วย (โดยเฉพาะเด็กอายุ ๕-๑๕ ปี) ถูกหวยเข้า กลายเป็นโรคแทรกร้ายแรงดังกล่าวขึ้นมา ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โต สร้างความลำบากแก่ผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมากมาย
เนื่องจากพยากรณ์ไม่ได้ว่าใครบ้างที่จะเสี่ยงต่อการเกิดไข้รูมาติก แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบเป็นหนองกินยาปฏิชีวนะให้ครบ ๑๐ วัน ทุกคนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกดังกล่าวลง
การมีความรู้ความเข้าใจในสถิติหรือตัวเลขที่เกี่ยวกับโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียต่อสุขภาพนั้นจะช่วยให้เราหาวิธีดูแลตัวเองให้ลดละความเสี่ยง ไม่ปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อ หรือโต้แย้งอย่างขาดเหตุผล
- อ่าน 2,940 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้