• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้หวัดนก

ไข้หวัดนก หรือไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกจัดเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอสายพันธุ์ H5N1 อันเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่จากสัตว์ปีกมาสู่คน พบระบาดครั้งแรกที่เกาะฮ่องกงเมื่อต้นปี ๒๕๔๐ (มีผู้ป่วย ๑๘ ราย ตาย ๖ ราย) เมื่อต้นปี ๒๕๔๗ พบระบาดในเวียดนาม (ป่วย ๒๓ ราย ตาย ๑๖ ราย) และไทย (ป่วย ๑๒ ราย ตาย ๘ ราย) และเมื่อ เร็วๆ นี้ (กันยายน-ตุลาคม) ก็มีรายงานผู้ป่วยเกิดขึ้นระลอกใหม่ในเวียดนาม และไทยอีกครั้งหนึ่ง

*ชื่อภาษาไทย ไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก, ไข้หวัดนก
*ชื่อภาษาอังกฤษ  Avian influenza, Avian flu, Bird flu

*สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอสายพันธุ์ H5N1
เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มีอยู่ในนกน้ำ นกชายทะเล และนกป่า นกเหล่านี้จะติดเชื้อไวรัสตัวนี้โดยไม่มีอาการเจ็บป่วย แต่จะแพร่เชื้อให้ฝูงสัตว์ปีกตามฟาร์มและบ้านเรือน เช่น ไก่บ้าน เป็ดในท้องทุ่ง ทำให้เกิดโรคระบาดและการตายอย่างรวดเร็วของฝูงสัตว์ปีกเหล่านี้ คนจะติดเชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ปีกตามบ้าน ซึ่งเชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และมูลของสัตว์ปีก
การติดจากสัตว์ปีกมาสู่คน ผู้ป่วยไข้หวัดนกมีประวัติในช่วง ๗ วันก่อนป่วยได้สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีก (ที่สำคัญคือไก่บ้าน) ที่ป่วยหรือตาย บางคนมีประวัติสัมผัสสิ่งแวดล้อม ที่ปนเปื้อนเชื้อในบริเวณที่เกิดโรคระบาดของสัตว์ปีก
เชื้อไข้หวัดนกจะติดมากับมือของผู้ป่วย (หลังสัมผัสถูกน้ำมูก น้ำลาย หรือมูลของสัตว์ปีก) เมื่อเผลอ ใช้นิ้วมือแยงตา แยงจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุตาหรือเยื่อบุจมูก
ปัจจุบันยังไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกจากการ กินเนื้อหรือไข่ของสัตว์ปีก
ระยะฟักตัวของโรค เฉลี่ย ๓-๕ วัน สูงสุดไม่เกิน ๗ วัน
กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่คลุกคลีสัมผัสใกล้ชิดกับไก่ที่ป่วย เช่น คนเลี้ยงไก่ คนขนไก่ คนชำแหละไก่ เด็กๆ ที่เล่นคลุกคลีกับไก่ เป็นต้น
การติดจากคนสู่คน ปัจจุบันยังไม่มีรายงาน การติดเชื้อไข้หวัดนกจากคนสู่คน แต่ก็หวั่นเกรงกันว่าถ้าเชื้อเกิดการกลายพันธุ์ก็อาจติดจากคนสู่คน  ซึ่งทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรงได้
 
*อาการ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ เริ่มด้วยอาการไข้สูง (ตัวร้อนจัด) หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั้งตัว อ่อนเพลียมาก เจ็บคอ ไอแห้งๆ คัดจมูก น้ำมูกไหล และอาจมีอาการตาแดงร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเดินร่วมด้วย
ในรายที่เป็นรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ) อาจมีโรคปอดอักเสบ (ปอดบวม) แทรกซ้อน เกิดอาการหายใจลำบาก หายใจหอบ
ในรายที่เป็นไม่รุนแรง และไม่มีโรคแทรกซ้อน ก็จะหายได้เองภายใน ๒_๗ วัน
บางคนอาจมีการติดเชื้อไข้หวัดนก โดยไม่เกิดอาการเจ็บป่วยก็ได้

*การแยกโรค อาการไข้สูง เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ ควรแยกจากสาเหตุอื่น เช่น
๑. ไข้หวัดธรรมดา จะมีไข้เป็นพักๆ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ แต่จะไม่ปวดเมื่อยมาก มักมีไข้อยู่นาน ๒-๔ วัน
๒. ไข้หวัดใหญ่จากเชื้อสายพันธุ์อื่น จะมีอาการแบบเดียวกับไข้หวัดนก คือ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ
๓. หัด จะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร น้ำมูกไหล ไอมาก หลังมีไข้ ๓-๔ วันจะมีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า ลำตัว แขน ขา มักมี    ไข้สูงอยู่ ๑ สัปดาห์ แล้วทุเลาได้เอง ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการหอบ (ปอดบวม) ท้องเดิน หรือชัก (สมองอักเสบ)
๔. ทอนซิลอักเสบ จะมีไข้สูง เจ็บคอ ตรวจพบทอนซิลบวมแดงหรือเป็นหนอง
๕. ปอดอักเสบ (ปอดบวม) จะมีไข้สูง เจ็บหน้าอก หายใจหอบ ไอมีเสลดออกเป็นหนอง
อย่างไรก็ตาม ถ้าพบผู้ที่มีอาการไข้สูง เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรืออยู่ในบ้านที่มีการเลี้ยงไก่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนก ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว ถ้าตรวจพบว่าเป็นไข้หวัดนกจะได้รีบรักษาเสียแต่เนิ่นๆ

*การวินิจฉัย แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ (ไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ) ร่วมกับประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกในพื้นที่ที่มีการระบาด ของไข้หวัดนก และทำการทดสอบหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (ทราบผลภายใน ๑๕_๓๐ นาที)
นอกจากนี้อาจทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด ตรวจแยกเชื้อไวรัส เป็นต้น

*การดูแลตนเอง เมื่อมีไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ สามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้น ดังนี้
๑. นอนพักให้เต็มที่
๒. ห้ามอาบน้ำเย็น ขณะมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวบ่อยๆ
๓. ดื่มน้ำมากๆ ประมาณชั่วโมงละ ๑_๒ แก้ว
๓. กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หากเบื่ออาหาร พยายามดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม   น้ำผลไม้ นมให้มากๆ
๕. เวลามีไข้สูงให้กินยาลดไข้ พาราเซตามอล (หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน หรือยาแก้ไข้ชนิดอื่น)
ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
๑. มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายภายใน ๗ วันก่อนไม่สบาย
๒. อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนก
๓. มีอาการหนาวสั่น หรือหายใจหอบ
๔. มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง

*การรักษา ถ้าสงสัยไข้หวัดนก แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้ยาต้านไวรัส ได้แก่ โอเซลทามิเวียร์ (olseltamivir) ซึ่งมีชื่อการค้าว่า ทามิฟลู (Tamifluโ) นาน ๕ วัน (ยานี้จะใช้ได้ผลดีควรให้ภายใน ๔๘ ชั่วโมงหลังมีอาการ)
นอกจากนี้ ก็ให้การรักษาตามอาการ
ถ้าหายใจหอบ จะใช้เครื่องช่วยหายใจ

*ภาวะแทรกซ้อน ที่ร้ายแรงก็คือ ปอดอักเสบ (ปอดบวม) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบ และกลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

*การดำเนินโรค ในรายที่มีอาการเล็กน้อย ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนมักจะหายได้เองภายใน ๒-๗ วัน
แต่ถ้ามีโรคปอดอักเสบ หรือกลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันแทรกซ้อน ก็อาจเสียชีวิตได้รวดเร็ว
ไข้หวัดนกที่เป็นรุนแรง มักเกิดในเด็กมากกว่า ผู้ใหญ่

*การป้องกัน 
๑. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย
๒. หากต้องสัมผัสสัตว์ปีกในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดนก ให้สวมหน้ากากอนามัย และสวมใส่ถุงมือหรือถุงพลาสติกหนาๆ
๓. ควรล้างมือด้วยสบู่กับน้ำทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีก น้ำมูก น้ำลาย และมูลของสัตว์ปีก
๔. กินเนื้อสัตว์ปีก หรือไข่ที่ปรุงให้สุกแล้ว

ข้อมูลสื่อ

307-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 307
พฤศจิกายน 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ