• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไตวายเรื้อรัง ป้องกันได้!

ไตวายเรื้อรัง ป้องกันได้!


เมื่อเอ่ยถึงโรคไต คนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับภาพผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายระยะสุดท้าย (end-stage renal disease) ที่เดิมเรียกชื่อว่า โรค "ไตวายเรื้อรัง"(chronicrenal failure) และเป็นระยะที่ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต

ญาติพี่น้องของผู้ป่วยอาจมองเห็นภาพผู้ป่วยที่ไตหมดสภาพการทำงาน แล้วต้องประทังชีวิตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis)หรือโดยการล้างไตด้วยน้ำทางช่องท้อง (continuous ambulatory peritoneal dialsis, CAPD) ซึ่งไตจะไม่หวนกลับมาเป้นปกติได้อีก ดูจะเป็นภาพที่หดหู่และทำให้รู้สึกท้อถอย
การค้นหาเพื่อป้องกันโรคไตแต่เนิ่นๆก่อนเข้าถึงภาวะไตวายระยะสุดท้าย จึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว และระบบเศรษฐกิจของประเทศ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตเรื้อรัง คือ การรักษาที่ดีที่สุด

การเรียนรู้และเข้าใจการป้องกันโรคไตวายเรื้อรังที่ดีและเหมาะสมจึงเป็นส่งสำคัญ โดยได้รับความรู้จากศาสตราจารย์นายแพทย์เกรียง ตั้งสง่า สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไตสำคัญกับร่างกายอย่างไร
"ไต" มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว ขนาดเท่ากำปั้นคนปกติ มี ๒ ข้าง อยู่ด้านหลังช่องท้องข้างละ ๑ อัน ไตทำหน้าที่เกี่ยวกับการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ผ่านทางปัสสาวะ รักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่ และสมดุลกรด-ด่างในร่างกาย สร้างฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมสมดุล แคลเซียม และฟอสเฟต (คือ วิตามินดี นั่นเอง) และฮอร์โมนกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง

ไตเสื่อมตามธรรมชาติเป็นอย่างไร
ปกติไตของเราจะเริ่มถดถอย เสื่อมตามธรรมชาติได้ร้อยละ ๑ ต่อปี นับตั้งแต่อายุ ๓๕ ปีเป็นต้นไป ถือว่าเป็นโรคหรือไม่ ตอบว่าไม่เป็นโรค แต่เป็นการเสื่อมตามวัย
เวลามองโรคไตเสื่อมไม่ได้หมายความว่า ไตทั้งอันเสื่อม แต่หน่วยเล็กๆบางส่วนเริ่มเสื่อม บางส่วนอาจจะเสื่อมนิดหน่อย บางส่วนเสื่อมสภาพไปเลย แต่ว่าสภาพการทำงานของไต ทั้งหมดยังพอใช้ได้ ปกติคนอายุ ๘๐ ปี สภาพการทำงานของไตจะลดลงเหลือประมาณครึ่งหนึ่ง รวมทั้งอวัยวะอื่นๆก็เสื่อมไปตามวัยด้วยเช่นกัน การเสื่อมของไต ไม่ใช่เสื่อมเพียงข้างเดียว และมีอีกข้างหนึ่งดี แต่จะเสื่อมไปพร้อมๆกันทั้ง ๒ ข้าง คนเรามีไตอยู่ ๒ ข้าง ถ้าไตบกพร่องไป หรือถูกตัดไปข้างหนึ่ง ไตข้างที่เหลือ ยังพอทำหน้าที่แทนได้ ต่อเมื่อไตเสียไป ๒ ข้าง แล้วจึงมีอาการของโรคไตวายเรื้อรังตามมา

โรคไตเรื้อรังมีสาเหตุหลักๆมาจากอะไร

กลุ่มคนที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคไตเสื่อมหรือไตวายเรื้อรัง ได้แก่

๑. ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง เช่น

- โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะซ้ำซาก
- โรคนิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะ
- โรคไตเป็นถุงน้ำซึ่งสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
- โรคไตอื่นๆ

๒. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่มีผลกระทบต่อการทำงานของไต เช่น

- โรคเบาหวาน
- โรคความดันสูง
- โรคเกาต์
- โรค เอส แอล อี (SLE)

๓. ผู้ที่กินยาบางชนิด (เช่น เฟนาซิติน เฟนิลบิวทาโซน ลิเทียมไซโคสปอรีน)หรือได้รับการสัมผัสสารเคมีบางชนิด (เช่น สารตะกั่ว แคดเมียม) ติดต่อกันเป็นเวลานาน

๔. ผู้ที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี เพราะไตเสื่อมสภาพลงตามอายุ

โรคใดเป็นสาเหตุหลักที่โดดเด่นมาก
สาเหตุหลักของโรคไตวาย คือ เบาหวาน และความดันเลือดสูง โรคความดันเลือดสูง พบได้ ร้อยละ ๕ - ๑๐ (โอกาสเกิดโรคจะสูงขึ้นตามอายุ คือ ตั้งแต่ ๓๕ ปีขึ้นไป) ถ้าคำนวณจากคนไทย ๖๐ ล้านคน จะมีผู้ป่วยความดันสูง ๓-๖ ล้านคน ผู้ป่วยความดันสูง ร้อยละ ๑๐ จะมีโรคไตวายแทรกซ้อน คือ ๓๐๐,๐๐๐-๖๐๐,๐๐๐ คน
โรคเบาหวาน พบได้ร้อยละ ๔ ถ้าคำนวณจากคนไทย ๖๐ ล้านคน จะมีผูป่วยเบาหวานทั้งสิ้น ๒.๔ ล้านคน ผู้ป่วยเบาหวานร้อยละ ๓๐ จะมีโรคไตเรื้อรังแทรกซ้อน คือ ๗๒๐,๐๐๐ คน ดังนั้นเมื่อรวมตัวเลข คาดว่าจะมีผู้ที่เป็นโรคไตวายจากทั้ง ๒ โรคนี้ สูงถึง ๑ ล้านคน มีข้อเท็จจริงประการหนึ่ง คือ โอกาสที่คนไทยจะเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายนั้น สูงถึง ๑,๐๐๐ คน ต่อประชากร ๑ ล้านคน โดยเฉพาะคนที่มีอายุมากกว่า ๕๐ ปี และมีโรคประจำตัว อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเรียกได้ว่า โรคไตเรื้อรังใกล้ชิดกับคนไทยมาก

อยู่กับโรคไตให้ปลอดภัย
หลังจากได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอัตราการเสื่อมหน้าที่ของไตแตกต่างกันไป บางรายการเสื่อมของไตเกิดขึ้นอย่างช้าๆนานหลายปี
บางรายอาจมีการเสื่อมของไตอย่างรวดเร็วจนต้องเข้ารับการรักษาโดยการบำบัดทดแทนไตในเวลาน้อยกว่า ๑ ปี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินของโรคไตเรื้อรังเลวร้าย ได้แก่

๑. ชนิดของไตที่เป็นสาเหตุ
นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการดำเนินโรคของไตเรื้อรัง เพราะโรคไตเรื้อรังบางอย่างอาจมีการดำเนินของโรคอย่างช้าๆ เช่น โรคไตที่เกิดจากถุงน้ำในไตหรือโรคเนื้อเยื่อไตและหลอดไตฝอยอักเสบเรื้อรัง ในทางตรงกันข้าม โรคไตเรื้อรังบางชนิดทำให้การทำงานของไตเสื่อมไปอย่างรวดเร็ว เช่น โรคไตที่เกิดจากโรคหลอดเลือดฝอยไตอักเสบเรื้อรัง โรคไตจากเบาหวาน เป็นต้น

๒. ความดันเลือดสูง
ภาวะความดันสูง เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ไตเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว การควบคุมความดันเลือดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจึงสำคัญที่สุดที่จะช่วยชะลอการเสื่อมของไต
ความดันเลือดควรอยู่ในระดับประมาณ ๑๑๐-๑๒๕/๗๐-๗๕ มม.ปรอท นอกจากนี้ การกินยาลดความดันเลือดบางชนิดอาจช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้ดี ดังนั้นการกินยาลดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญต่อการชะลอความเสื่อมของไตเรื้อรังได้

๓. ระดับโปรตีนในปัสสาวะ
ปัจจุบันพบว่า การปล่อยให้ระดับโปรตีนในปัสสาวะสูงเป็นเวลานานๆ เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ไตเสื่อมหน้าที่เร็วกว่าที่ควร ยิ่งมีโปรตีนรั่วทางปัสสาวะมาก ไตยิ่งเสื่อมเร็วขึ้น

๔. การกินอาหาร
การกินอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ถั่ว เป็นต้น ในปริมาณมากต่อวัน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไตเสื่อมลงได้เร็ว แต่ในทางกลับกัน การได้กินอาหารโปรตีนต่ำเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยไตเรื้อรังขาดอาหารได้ และร่างกายอยู่ในสภาพขาดอาหาร โดยทั่วไป ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะกินสารอาหารโปรตีนเกินเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่แล้ว (มีแต่จะมากเกิน การจำกัดจนถึงระดับขาดสารอาหารหมักไม่เกิดขึ้น)

๕. การกินยา
ยาที่แพทย์สั่งให้ผู้ป่วยไตเรื้อรังมีหลายชนิด บางชนิดช่วยให้ไตเสื่อมช้าลง ผู้ป่วยควรกินตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง เพราะมียาอีกหลายชนิดที่อาจทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนกินยาใหม่

๖. การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
นอกจากการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของไตเรื้อรัง การกินยาและอาหารที่เหมาะสมแล้ว การงดสูบบุหรี่ก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง พบว่า ผู้ป่วยไตเรื้อรังที่สูบบุหรี่มีการเสื่อมของไตเร็วกว่าผู้ป่วยไตเรื้อรังที่ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนั้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การมีสุขภาพจิตที่ดีถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ

การรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งตามความต้องการและเหมาะสม ผู้ป่วยที่อายุน้อยและไม่มีโรคอื่นร่วมด้วยจะรักษาด้วยวิธีใดก็ได้ผลดีทั้งสิ้น
ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือผู้ที่หลอดเลือดแข็งตัวและตีบตัน เช่น จากโรคเบาหวาน หรือโรคความดันเลือดสูง เป็นต้น ควรรักษาด้วยวิธีการขจัดของเสียทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องจะดีกว่าการฟอกเลือด แต่จะต้องพิจารณาเป็นรายๆ การจะเลือกใช้วิธีใดนั้น แพทย์จะแนะนำวิธีที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากอายุ โรคพื้นฐาน ลักษณะหลอดเลือด บุคลิก และสภาพจิตใจ

๑. การรักษาด้วยยา และการควบคุมอาหารและน้ำ
หากจำกัดอาหารโปรตีนตั้งแต่ระยะต้นๆ จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ด้วย แต่เมื่อผู้ป่วยมีการดำเนินของโรคไตมาถึงระยะท้ายของโรค วิธีนี้จะไม่ได้ผล แต่อาจทำให้อาการต่างๆของดรคน้อยลง หรือบางครั้งอาการอาจหายไประยะหนึ่งได้

๒. การขจัดของเสียทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง
เป็นวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายวิธีหนึ่ง หลังจากได้รับการฝึกสอนจากแพทย์และพยาบาลเป็นเวลา ๑-๔ สัปดาห์แล้วผู้ป่วยสามารถกลับไปทำได้เองที่บ้าน ค่าใช้จ่ายในการขจัดของเสียทางช่องท้อง(รวมค่าน้ำยา) วันละประมาณ ๑,๐๐๐ บาท ทำทุกวันไปตลอด ในขณะที่ได้รับการรักษาผู้ป่วยสามารถทำงานและปฏิบัติภารกิจได้ปกติ

๓. การฟอกเลือด (การทำไตเทียม)
การฟอกเลือดเป็นการบำบัดรักษาทดแทนการทำงานของไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้ผลดีอีกวิธีหนึ่ง และเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ผู้ป่วยจะได้รับการฟอกเลือดสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ ๙ ครั้ง ค่าใช้จ่ายสำหรับการฟอกเลือด เฉลี่ยครั้งละประมาณ ๒,๐๐๐-๒,๕๐๐ บาท ผู้ป่วยและญาติควรมีทุนสำรองหมุนเวียนใช้จ่ายประมาณเดือนละ ๒๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาท

๔. การปลูกถ่ายไต
การปลูกถ่ายไต หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า การเปลี่ยนไต เป็นวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติเพียงแต่ต้องกินยา การรักษาด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยากดภูมิคุ้มกันที่ใช้ควบคุมไม่ให้ร่างกายต่อต้านไตใหม่ที่ปลูกถ่าย และผลของการรักษาขึ้นกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยก่อนได้รับการปลูกถ่ายไตด้วย การตรวจร่างกายอย่างละเอียด การคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสม การเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจมีความสำคัญยิ่ง ปัจจุบันมีคนไทยที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังรอรับการปลูกถ่ายไตมากกว่า ๑,๐๐๐ ราย แต่ได้รับการปลูกถ่ายไตเพียงปีละ ๑๐๐ รายต่อปีเท่านั้น หรือประมาณร้อยละ ๑๐ ทุกปีจะมีผู้ป่วยไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในจำนวนผู้ป่วย ๑,๐๐๐ รายที่รอการปลูกถ่ายไต กว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไตหมดต้องใช้เวลาประมาณ ๑๐ ปี

การวัดค่าปริมาณการทำงานของไต
อาจวัดเป็นค่า"แรงม้า"ของไตได้ โดยวัดค่า"อัตราการขจัดของเสียที่ไต" ปัจจุบันแพทย์นิยมวัดค่าอัตราการขจัดสารครีอะตินีนที่ไต (creatinine clearance)เป็นตัวแทนค่า"แรงม้า"ของไตได้ถูกต้องกว่าการวัด"ระดับของเสีย"คือ ระดับสารครีอะตินีนในเลือด ซึ่งไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าไตทำงานมากน้อยเท่าใด (ดูตารางที่ ๑)

การป้องกันโรคไตเรื้อรัง
นอกจากการวัดค่า"แรงม้าของไต"แล้วสิ่งที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้

๑. ตรวจเช็กดูว่า เป็นความดันเลือดสูง เบาหวาน และโรคเกาต์ หรือไม่ ถ้าเป็นจะต้องรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องจนสามารถควบคุมระดับความดันเลือด ระดับน้ำตาลและกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

๒. เมื่อเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ)หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ (เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต) จะต้องทำการรักษาให้หายขาด

๓. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อไต และระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีเลือดไปเลี้ยงไตไม่ดี (หัวใจวาย หลอดเลือดแดงไตตีบ เป็นต้น)

ในกรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันเลือดสูง เราควรมองว่าโรคสมอง โรคหัวใจ และโรคไต ที่เกิดจากโรคทั้ง ๒ ดังกล่าว เป็นเรื่องเดียวกัน คือ เป็นเรื่องความเสื่อมของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ทำให้อวัยวะต่างๆขาดเลือดไปเลี้ยง เพียงแต่สมองและหัวใจถูกกระทบก่อน เพราะเป็นอวัยวะสั่งการ ส่วนไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ขับของเสียจึงปรากฎอาการในระยะหลังเมื่อโรคไตเป็นมากแล้ว

ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน และความดันเลือดสูงทุกคนจำเป็นจะต้องรับการตรวจ การทำหน้าที่ของไตเป็นระยะๆ ด้วยการตรวจเลือดและปัสสาวะ หากพบว่าเริ่มมีการเสื่อมของไตระยะแรกเริ่ม (ก่อนมีอาการ) จะได้หาทางขจัดปัดเป่าให้ดีขึ้นได้ อย่าประมาท ปล่อยจนมีอาการแสดงชัดเจน ก็อาจสายเกินแก้ได้

ข้อมูลสื่อ

295-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 295
พฤศจิกายน 2547
ธนนท์ ศุข