• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยตนเองและช่วยกันเอง ในยามเจ็บฉุกเฉิน (จบ)

"เจ็บ" ในที่นี้หมายถึง การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ภยันตราย แมลง สัตว์กัดต่อย และการได้รับสารพิษ รวมทั้งการแพ้ยา และการเป็นพิษจากยาด้วย
" ฉุกเฉิน"  ในที่นี้หมายถึง เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน และจะต้อง รีบแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิต หรือพิการ หรือต้องทุกข์ทรมานอย่างมาก
" การช่วยตนเองและช่วย กันเอง"  ในที่นี้หมายถึง คนที่เกิดอาการเจ็บฉุกเฉิน รู้จักวิธีช่วยตนเอง เพื่อกำจัดหรือบรรเทาอาการเจ็บฉุกเฉิน นั้น ถ้ายังมีสติสัมปชัญญะ และกำลังวังชาพอที่จะช่วยตนเองได้ หรือถ้าไม่สามารถช่วยตนเองได้ คนที่อยู่ใกล้ๆ หรือพบเห็นการเจ็บฉุกเฉินนั้น รู้จักช่วย ผู้ที่เจ็บฉุกเฉินตามสมควร เพื่อช่วยชีวิต หรือลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยลงได้
 

๕.๑๑ ผู้ที่ได้รับสารพิษจากการสูดดม รวมทั้งควันไฟ หรือก๊าซพิษ ผู้ที่จะเข้าไป ช่วยจะต้องป้องกันตนเองให้ดีก่อน เช่น สวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่ตักอากาศนำครอบศีรษะแล้วรวบ ปากถุงมัดไว้ที่คอ (จะมีอากาศพอหายใจ ๓ นาที) แล้วเข้าทางเหนือลม
(๑) รีบนำหรือลากผู้บาดเจ็บออกจากบริเวณอันตราย
(๒) โบกพัดลมไปที่หน้าผู้ป่วย ให้ออกซิเจนถ้ามี
(๓) เอาเสื้อผ้าที่ไหม้ไฟ หรือเปื้อนสารพิษออก
(๔) ใช้น้ำล้างหน้าและบริเวณที่ถูกพิษมากๆ
(๕) ช่วยหายใจ ถ้าหายใจลำบาก
(๖) รีบส่งโรงพยาบาล
๕.๑๒  ผู้ที่ได้รับสารพิษจากการสัมผัส หรือซึมผ่านทางผิวหนัง ผู้ที่จะเข้าไปช่วยจะต้องใส่ถุงมือยาง และใส่เสื้อกันเปื้อนเพื่อป้องกันตนเองก่อน
(๑) รีบนำหรือลากผู้บาดเจ็บออกจากบริเวณอันตราย
(๒) เอาเสื้อผ้าที่เปื้อนสารพิษออก
(๓) ใช้น้ำล้างร่างกายทั้ง หมดมากๆ
(๔) ช่วยหายใจ ถ้าหายใจลำบาก
(๕) รีบส่งโรงพยาบาล
๕.๑๓ ผู้ที่ได้รับสารพิษทางปาก รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่ม
(๑) รีบทำให้อาเจียน ยกเว้นกรณีที่หมดสติ หรือกลืนกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซิน หรือสารกัดกร่อน ซึ่งรู้ได้เพราะมีกลิ่น หรือมีแผลไหม้ในปากและคอหอย
ในกรณีที่ไม่ใช่ข้อยกเว้น ให้ รีบทำให้อาเจียน โดยการล้วงคอ ดื่มนม ๔-๕ แก้ว หรือกลืนไข่ดิบ ๕-๑๐ ฟอง แล้วล้วงคอใหม่
(๒) ให้การรักษาตามอาการ
(๓) รีบส่งโรงพยาบาล พร้อม กับขวดสารพิษ อาหารหรือเครื่อง ดื่มที่เหลืออยู่ สิ่งที่อาเจียนออกมา และอื่นๆ เพื่อจะได้ตรวจทราบได้ ว่าเป็นสารพิษอะไร
๕.๑๔  ผู้ที่ได้รับอันตรายจากอากาศร้อน ที่ไม่ใช่แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกที่กล่าวไว้ในข้อ ๕.๘ (ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๔๕) เช่น ทำงานกลางแดดหรือในที่ร้อนจัด อยู่ในห้องอุดอู้และร้อน โดยเฉพาะในคนสูงอายุ อ่อนแอ หรือมีโรคเรื้อรังอยู่อาจทำให้เกิด
ก. เป็นลมเพราะร้อน (ลมแดด) มักเกิดในคนที่ออกกำลังในที่ร้อน ทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมทันที ผิวหนังเย็นชื้น หรือ อุ่นชื้น
รีบเอาผู้ป่วยออกจากที่ร้อน ให้นอนราบหัวต่ำ พัดโบก ใช้น้ำเย็นเช็ดหน้าและร่างกาย ให้ดื่มน้ำเย็นและน้ำเกลือแร่ถ้ามี
ข. ตะคริวเพราะร้อน มักเป็น ที่แขน ขา หรือหน้าท้อง รีบพาผู้ป่วยออกจากที่ร้อน นวดส่วนที่เป็น ตะคริวเบาๆ ให้น้ำเกลือแร่ (น้ำ+ น้ำตาล+เกลือ) หรือน้ำผลไม้ใส่เกลือ
ค. ลมปัจจุบันเพราะร้อน (heat stroke) มักเกิดจากการออก กำลังมากในที่ร้อนจัด หรืออยู่ในที่ร้อนจัดนานเกินไปทำให้ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว คลื่นไส้อาเจียน หอบ ตัวร้อนจัด สับสน ชัก และหมดสติ

*  รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่มเย็น

* ถอดเสื้อผ้าออก ใช้น้ำเย็นราดตัวแล้วพัดให้ร่างกายเย็นลง ถ้ามีน้ำแข็งให้ใช้ผ้าห่อน้ำแข็ง วางไว้ที่รักแร้ ซอกคอ ขาหนีบเพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย

*  ให้ดื่มน้ำเย็น และน้ำเกลือแร่มากๆ เท่าที่จะดื่มได้

*  รีบส่งโรงพยาบาล

๕.๑๕  ผู้ที่ได้รับอันตรายจากความเย็น เช่น เมื่ออากาศหนาวจัด คนสูงอายุ ร่างกายอ่อนแอ หรือเมาเหล้าจะเกิดภาวะตัวเย็น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ซึม สับสน และหมดสติได้
(๑) รีบใช้ผ้าแห้งๆ ห่อตัวผู้ป่วย ไม่ต้องใช้น้ำร้อนประคบ
(๒) เวลาเคลื่อนย้าย อย่ากระแทกกระทั้นมาก เพราะหัวใจอาจเต้นผิดปกติได้มากๆ
(๓) ถ้ายังกลืนกินได้ ให้ดื่ม กาแฟ หรือชาร้อนๆ หรือนมร้อนๆ
(๔) ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบส่งโรงพยาบาล
๕.๑๖  การได้รับอันตรายจาก แรงดันบรรยากาศ เช่น การขึ้นเครื่องบิน หรือบอลลูนที่ไม่มีการปรับแรงดันอากาศ การดำน้ำลึกๆ หรือการกลับสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว หลังจากดำน้ำลึกอยู่นาน
(๑) ให้การรักษาตามอาการ ให้ออกซิเจนถ้ามี
(๒) รีบส่งโรงพยาบาล
๕.๑๗ จิตใจถูกกระทบอย่างแรง ทำให้สับสน เพ้อคลั่ง ฟั่นเฟือน ซึมเศร้า หรืออื่นๆ
(๑) รีบนำผู้บาดเจ็บออกจาก บริเวณอันตราย และบริเวณที่ได้เห็น และได้ยินสิ่งที่สะเทือนใจ
(๒) ปลอบประโลม ให้ขวัญ กำลังใจ ทั้งด้วยวาจาและการสัมผัส รวมทั้งการโอบกอด
(๓) อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ คนเดียว
(๔) หาคนที่ผู้ป่วยรัก หรือ สนิทด้วยมาช่วยปลอบใจและอยู่ใกล้ผู้ป่วย
(๕) ถ้าไม่ดีขึ้น อาจต้องใช้ ยาช่วย
๕.๑๘  การคลอดฉุกเฉิน คือการคลอดที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้เตรียม ตัวไว้ก่อน ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่บ้าน ในยานพาหนะ หรือที่อื่นๆ
(๑) ปลอบขวัญ ให้กำลังใจ และอย่าตื่นเต้น
(๒) ให้หายใจเข้า-ออกยาวๆ และอย่ากลั้นหายใจแล้วเบ่ง ถ้ายังพอจะระงับได้
(๓) ให้นอนหงายชันเข่าทั้ง ๒ ข้างขึ้น  หรือนอนตะแคงข้าง
(๔) ให้ผ้าสะอาดรองก้นแม่ เด็กไว้ ถ้ามี
(๕) ใช้ผ้าสะอาดอีกผืนหนึ่ง ถ้ามี เช็ดและประคองหัวเด็กที่กำลังโผล่ออกมา (ถ้าไม่มีผ้าให้ใช้มือเปล่าไปก่อน)
(๖) ปล่อยให้หัวเด็กหมุนตัว จนกระทั่งหัวเด็กพ้นออกมา (อย่าไปดึงไปดัน หรือไปหมุนกลับสู่ที่เดิม)
(๗) ใช้ผ้าสะอาดเช็ดใบหน้า จมูก และปากเด็ก เมื่อหัวเด็กโผล่ พ้นช่องคลอดออกมา
(๘) ถ้าสายสะดือพันคอเด็ก ช่วยปัดให้พ้นหัวเด็ก
(๙) โน้มหัวเด็กลงเบาๆ แล้วไหล่บนจะโผล่ออกมาจนพ้นช่องคลอด
(๑๐) ยกหัวเด็กขึ้น แล้วไหล่ ล่างจะโผล่พ้นช่องคลอดออกมา
(๑๑) ประคองและดึงหัวเด็ก ออกมาเบาๆ ตัวเด็กก็จะพ้นจากช่องคลอด โดยยังมีสายสะดือติดอยู่(๑๒) วางตัวเด็กลงบนผ้าสะอาดระหว่างขาแม่
(๑๓) ใช้ผ้าสะอาดเช็ดหน้า ปาก และจมูกเด็กอีกครั้ง ถ้ามีลูกยางแดง ให้ดูดน้ำมูก น้ำเลือดออกจากจมูกและปากเด็ก
(๑๔) ใช้มือข้างหนึ่งจับข้อเท้าของเด็กทั้ง ๒ ข้าง แล้วยกขึ้น ให้หัวเด็กห้อยต่ำลง แล้วตบก้น หรือหลังเบาๆ ให้เด็กร้องเสียงดัง เพื่อให้เด็กหายใจเข้า-ออกเต็มที่
(๑๕) เมื่อเด็กหยุดร้องแล้ว วางเด็กลงบนผ้าสะอาด ใช้ด้ายเส้น ใหญ่หรือเชือกสะอาดผูกสายสะดือ เด็ก ห่างจากตัวเด็กประมาณ ๒ ฝ่ามือ ให้แน่นพอสมควร ควรผูก ๒ ปม ห่างกันประมาณ ๒ นิ้วมือ (ที่ผูกห่างจากตัวเด็กมาก เผื่อว่า เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วเจ้าหน้าที่ อาจตัดแต่งสายสะดือให้ใหม่)
(๑๖) ใช้กรรไกรหรือมีดที่สะอาด เช็ดกรรไกรหรือมีดด้วยแอลกอฮอล์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ และเช็ดสายสะดือด้วยแอลกอฮอล์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ตรงระหว่างปมเชือก ทั้ง ๒ แล้วตัดสายสะดือระหว่าง ปมเชือกทั้ง ๒
(๑๗) ใช้ผ้าสะอาดห่อเด็กให้อบอุ่น แล้ววางบนอกแม่ ให้แม่กอดเด็กไว้
(๑๘) รอให้รกคลอดแล้ว เก็บรกใส่ถุงพลาสติก ไว้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจว่ารกคลอดครบหรือไม่
(๑๙) ใช้มือคลึงมดลูกที่หน้าท้องให้มดลูกหด รัดตัว จะได้ไม่ตกเลือดหลังคลอด
(๒๐) ถ้าเลือดออกมากผิดปกติหลังคลอด หรือ รกไม่คลอดใน ๓๐ นาทีหลังเด็กคลอด หรือช่องคลอดฉีกขาดมาก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

หมายเหตุ : ถ้าเด็กเอาก้น หรือแขน ขา โผล่ออกมาก่อน ต้องรีบนำแม่ส่งโรงพยาบาลทันที อย่ารอช้า เพราะอาจจะทำให้เด็กและแม่เสียชีวิตได้
การช่วยตนเองและช่วยกันเองในยามเจ็บฉุกเฉิน จะช่วยการเสียชีวิต ความเจ็บปวดทรมาน และการพิการที่ไม่จำเป็นและไม่สมควรลงได้

อย่างไรก็ตาม การบาดเจ็บฉุกเฉินส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท และความไม่ใส่ใจที่จะป้องกัน การบาดเจ็บ(ทั้งจากอุบัติเหตุและไม่ใช่อุบัติเหตุ) ไว้ล่วงหน้า โดยตัวผู้บาดเจ็บเองหรือผู้อื่น เช่น อุบัติเหตุ จราจร ตึกถล่ม เป็นต้น

การป้องกันไม่ให้มีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน จึงเป็น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะไม่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพราะเมื่อเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นแล้ว แม้จะสามารถให้การรักษาพยาบาลได้ดีเพียงใดก็ตาม ความ เจ็บปวดทรมาน ความพิการ และความตายย่อมเกิด ขึ้นเสมอ

มาช่วยกันป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทั้งเพื่อ ตัวเราเอง เพื่อครอบครัวของเรา และเพื่อคนอื่นๆ ทั้งในที่ทำงาน และในสังคมของเรากันเถิด

***************

ใช้ภาชนะบรรจุอาหารอย่างไรให้ปลอดภัย

นพ.สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำถึงวิธีการใช้ภาชนะในการบรรจุอาหารให้ปลอดภัย เพื่อให้ห่างไกลจากอันตราย ของสารพิษที่เจือปน ซึ่งถ้าสะสมเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่น ภาชนะประเภทเมลามีน (เมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์เรซิน) ซึ่งนิยมใช้กันมากนั้น ไม่ควรใช้กับเตาไมโครเวฟ เพราะคลื่นไมโครเวฟจะ ทำให้คุณภาพของภาชนะเสื่อม ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า ๙๕ องศาเซลเซียสอาจทำให้มีการแพร่กระจายของ สารเคมีอันตรายออกมาได้มาก (ซึ่งขึ้นกับคุณภาพ ของการผลิตด้วย) และควรระวังอย่าให้ผิวภาชนะถูกกัดกร่อนจากการล้าง เพราะรอยขีดข่วนจะทำให้ เป็นที่สะสมของแหล่งเชื้อโรคได้ จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีตราหรือเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปลอดภัยกว่า
ข้อมูล : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

*****************
อย.เตือนเนื้อปลาปักเป้ามีพิษทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เตือนผู้จำหน่ายและผู้บริโภคห้ามนำปลาปักเป้าหรือ ปลาเนื้อไก่ มาทำเป็นอาหารโดยเด็ดขาด เนื่องจาก จะมีสารพิษ" เตโตรโดท็อกซิน (tetrodotoxin)" อยู่บริเวณหนังปลามากที่สุด รองลงมาคือไข่ปลา เนื้อปลา ตับ และลำไส้ ตามลำดับ ผู้ที่ได้รับสารพิษจะมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ อาเจียน รูม่านตาขยาย หายใจไม่ออก ถ้ารักษาไม่ถูกต้องหัวใจจะหยุดเต้น และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว (ระยะเวลาที่เกิดอาการประมาณ ๑๐-๔๕ นาที หลังจากได้รับสารพิษ)
หากมีผู้บริโภคได้รับสารพิษผู้ที่นำเนื้อปลามาจำหน่ายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒ หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
กระทรวงสาธารณสุข
 

ข้อมูลสื่อ

286-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 286
กุมภาพันธ์ 2546
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์