ภัยเงียบ! จากโรคตับอักเสบไวรัสซี
เชื้อไวรัสที่ทำให้ตับอักเสบมีอยู่มากชนิด แต่ที่วงการแพทย์ค้นพบและมีชื่อเรียกแน่นอนแล้ว ก็คือ ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ บี ซี ดี จี อี ทีที และเซนไวรัส และทั้งหมดนี้ชนิดที่พบบ่อยที่สุดในบ้านเรา ได้แก่ ไวรัสชนิดเอ บี และซี แต่ที่ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง และทำลายเซลล์ตับจนเป็นโรคตับแข็งหรือโรคมะเร็งตับ ได้แก่ ไวรัสชนิดบีและซี ส่วนใหญ่คนทั่วไปจะคุ้นหูกับชื่อไวรัสตับอักเสบเอและบี ส่วนไวรัสซีนั้นพูดถึงกันค่อนข้างน้อย ทั้งที่ความจริงแล้วไวรัสซีก็ร้ายพอๆ กับไวรัสบีนั่นแหละ แถมเป็นวายร้ายเงียบเสียด้วย เพราะมักไม่มีอาการให้สงสัย และกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวบางทีก็สายเกินแก้ นี่คือ ภัยเงียบหรืออันตรายจากไวรัสตับอักเสบซีที่คนไม่ค่อยรู้
การแพร่ระบาดของโรค
ไวรัสตับอักเสบซีนับเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติ ที่ต้องทำความเข้าใจและรู้วิธีป้องกัน เพราะตามตัวเลขที่คาดคะเนกันในวงการแพทย์ ณ ปัจจุบันนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีไปแล้วทั่วโลกประมาณ ๑๗๐ ล้านคน และในประเทศไทยเอง ไวรัสตับอักเสบซีก็จัดเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศที่พบบ่อยเช่นกัน มีการประเมินกันว่าคนไทยวันนี้ ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีไปแล้วประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากพอสมควร และทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มติดยาเสพติดที่ใช้เข็มร่วมกัน
ไวรัสตับอักเสบซี ติดต่อได้อย่างไร
เชื้อไวรัสตับอักเสบซีจะอาศัยอยู่ในเลือด และน้ำคัดหลั่งในร่างกาย เช่น น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด มีการติดต่อสู่ผู้อื่นคล้ายกับไวรัสตับอักเสบบีและโรคเอดส์ เช่น
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ในพวกเสพสารเสพติด
- การใช้เข็มที่ติดเชื้อโรคสักผิวหนัง เจาะหู ฝังเข็ม
- การใช้ของส่วนตัวที่เปื้อนเลือดร่วมกัน เช่น มีดโกน หรือกรรไกรตัดเล็บ
- ติดต่อจากการทำฟัน
- จากการมีเพศสัมพันธ์ (ติดได้แต่น้อยกว่าโรคเอดส์มาก)
- แม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่ลูกได้เมื่อคลอด (ติดได้แต่พบน้อย)
ส่วนใหญ่การติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จะเกิดจากทางเลือดมากกว่าติดต่อทางเพศสัมพันธ์
อาการของโรคตับอักเสบไวรัสซี
โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสจะมีอาการคล้ายๆ กัน คือ ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลียไม่มีแรง บวม มีน้ำในช่องท้อง การที่จะแยกอาการว่าเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใดกันนั้น ต้องใช้วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะทราบ แต่ที่น่าสังเกตคือโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดอื่นๆ มักจะเป็นแบบเฉียบพลัน และควรจะหายได้ภายในเวลา ๖ เดือน ถ้าหากมีอาการของโรคตับอักเสบเรื้อรัง ก็มักจะเกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี โดยทั่วไปผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่หลังติดเชื้อแล้วภายในเวลา ๑๐ ปีแรกจะไม่มีอาการอะไรเลย ยกเว้นส่วนน้อยที่อาจมีอาการของโรคแบบเฉียบพลัน ต่อเมื่อย่างเข้าสู่ ๑๐ ปีที่ ๒ ก็อาจเริ่มมีอาการของตับอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้น และเมื่อ ๓๐ ปีผ่านไป ตับจะถูกทำลายมากขึ้น ก็จะเริ่มมีอาการของตับแข็งปรากฏให้เห็น หรือเป็นโรคตับแข็ง แล้วผู้ป่วยจำนวนหนึ่งก็จะเป็นมะเร็งตับ เรียกว่ากว่าจะแสดงอาการก็ใช้เวลาหลายสิบปี โดยที่โรคจะดำเนินไปอย่างช้าๆ ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวเลยว่ามีโรคอันตรายซ่อนแฝงอยู่ ถ้าไม่ได้ตรวจเลือด ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณร้อยละ ๑๕-๒๐ อาจหายจากโรคได้เอง แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ ๗๕-๘๕ จะเป็นเรื้อรัง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาก็จะกลายเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด
การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี
ไวรัสตับอักเสบซียังไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนไวรัสชนิดเอและบี ดังนั้น พื้นฐานการรักษาทั่วไป ก็คือ การทำร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายได้บ้างตามสมควร ตามแต่ระยะของโรค ไม่วิตกกังวลหรือเครียดกับอาการเจ็บป่วยจนเกินไป เพราะบางครั้งความคิดในเชิงลบ ก่อให้เกิดโทษภัยมากกว่าตัวเชื้อโรคเสียอีก แล้วถ้าเชื้อไวรัสคุกคามทำลายเนื้อตับจนเกิดการอักเสบ ก็ต้องรักษาโดยการกินยา ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีที่ได้ผลมีอยู่ ๒ ชนิด ชนิดแรก คือ ยาต้านไวรัส ชนิดที่สองได้แก่ ยาอินเตอร์เฟอรอน ซึ่งยาทั้ง ๒ ชนิดนี้มีราคาแพงมาก (เป็นหลักแสน) การรักษาจะใช้เวลาประมาณ ๖-๙ เดือน และเนื่องจากยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงมาก ดังนั้น การใช้ยาจึงต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น การรักษาที่ถูกต้องด้วยยาที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน สามารถทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งหายขาดจากโรคได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่สามารถรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หายได้ทั้งหมดทุกคน แต่โดยภาพรวมผลของการรักษาไวรัสตับอักเสบซีก็ดีกว่าไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งการรักษาจะช่วยยืดอายุของผู้ป่วยให้อยู่ได้นานขึ้น ดีกว่าไม่รู้และไม่รักษา
การป้องกันโรคตับอักเสบไวรัสซี
การป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดก็เหมือนกับการป้องกันโรคเอดส์ คือ ไม่ใช้ของมีคมหรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือมีการให้เลือดโดยไม่ได้ตรวจ ซึ่งหากระมัดระวังอย่างดี นอกจากจะปลอดภัยจากโรคตับอักเสบบีและซีแล้ว ยังปลอดภัยจากโรคเอดส์ด้วย
การกินอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคตับ
การดูแลในเรื่องอาหารการกินอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคตับฟื้นจากอาการเจ็บป่วยเร็วขึ้น ผู้ป่วยโรคตับจำเป็นต้องกินอาหารคาร์โบไฮเดรตสูง เพื่อเสริมสร้างพลังงานที่บกพร่องไป และควรเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดมีกากใยสูงที่ไม่ขัดสี ประเภทข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท เผือก มัน ฟักทองจะดีที่สุด รวมทั้งผลไม้ต่างๆ และควรแบ่งการกินอาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ (๔-๖ มื้อ) เพื่อลดการทำงานของตับ อาหารโปรตีนพวกเนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ ในปริมาณที่มากกว่าปกติ จะช่วยในการซ่อมแซมและสร้างเซลล์ใหม่ของตับ
เดิมเชื่อกันว่าผู้ป่วยโรคตับอักเสบควรดื่มน้ำหวานมากๆ เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยหายอ่อนเพลีย ปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่จะไม่แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหวานแล้ว เพราะการกินน้ำตาลมากๆ ทำให้ตับต้องทำงานเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยควรงดอาหารประเภททอด อาหารมัน เพื่อลดการทำงานของตับ เนื่องจากตับมีหน้าที่ผลิตน้ำดีออกมาย่อยอาหารประเภทไขมัน ดังนั้น เมื่อตับอยู่ในภาวะอักเสบ ก็ควรให้ตับได้พักหรือทำงานน้อยลง ในบางรายที่จำเป็นต้องกินอาหารประเภทไขมัน แพทย์อาจจะให้ไขมันชนิดพิเศษแก่ผู้ป่วย ไม่ควรกินอาหารประเภทสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารทะเลทั้งหลาย เพราะถ้ามีการติดเชื้อหรืออาหารเป็นพิษ อาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยที่มีอาการบวม ควรกินอาหารรสจืดกว่าปกติ งดอาหารประเภทหมักดอง อาหารกระป๋อง หรืออาหารสำเร็จรูปต่างๆ เพราะอาหารเหล่านี้จะมีเกลือโซเดียมสูง ดื่มน้ำมากๆ ประมาณวันละ ๑๐-๑๕ แก้ว
คำแนะนำในการปฏิบัติตัว
- พักผ่อนให้เต็มที่ ไม่ควรทำงานหนักถ้ามีอาการอ่อนเพลียมาก
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดอย่างเด็ดขาด
- งดกินยาที่เป็นอันตรายต่อตับ เช่น ยาลดไข้และยาแก้ปวดพาราเซตามอล
- ใช้ช้อนกลาง และเครื่องใช้ส่วนตัวออกจากผู้อื่น
- ล้างมือหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ไปพบแพทย์ตามนัด
- ทำจิตใจให้สบาย อย่าวิตกกังวลหรือมีความเครียดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาการเจ็บป่วยของตนเอง
การดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่เป็นพาหะ
- ในกรณีของผู้ที่เป็นพาหะหรือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จากการตรวจเลือด โดยที่ร่างกายยังแข็งแรง ก็ควรให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตัวดี เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง เพราะถ้าปล่อยไปถึงขั้นนั้นก็จะเสี่ยงกับอันตรายมากขึ้น และการรักษาก็ยุ่งยากมากขึ้นด้วยเช่นกัน
- ผู้ติดเชื้อสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- สามารถออกกำลังกายประเภทเบาๆ ได้ ยกเว้นการออกกำลังกายชนิดที่ต้องหักโหมหรือตรากตรำทำงานหนัก
- ไม่ควรอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักสำหรับสุภาพสตรี เพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและขาดอาหาร
- งดการบริจาคเลือด เพราะเชื้อในเลือดจะติดต่อไปสู่ผู้อื่น
- ตรวจเลือดเป็นระยะๆ (ทุก ๓-๖ เดือน) ตามที่แพทย์นัด เพื่อเฝ้าดูการดำเนินของโรคว่าไปถึงขั้นไหน
ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบซี ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การมีสุขภาพแข็งแรงเป็นความโชคดีของชีวิต ดังนั้น ทุกคนจึงควรรักษาสุขภาวะของตนเองเอาไว้ให้นานที่สุด เพราะการเจ็บป่วยไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดย่อมทำให้เกิดความทุกข์ใจ แล้วยิ่งหากเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และเป็นโรคอันตราย ก็ยิ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลและความเครียด วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันตัวเองไม่ให้เจ็บป่วยจากทุกโรค
หน้าที่และความสำคัญของตับ
ตับเป็นอวัยวะในร่างกายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีอันเดียว และมีความสำคัญมากต่อการทำงานของร่างกาย เช่น ควบคุมระบบการเผาผลาญสารอาหาร และเปลี่ยนอาหารที่เรากินเข้าไปให้เป็นพลังงาน (สำหรับใช้ในการเคลื่อนไหวร่างกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ) เก็บสะสมพลังงานส่วนเกิน (ที่กินเข้าไปมาก แล้วใช้ไม่หมด) ไว้ในรูปของไกลโคเจน เพื่อเป็นพลังงานสำรองเอาไว้ในยามจำเป็น สร้างสารอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และวิตามินต่างๆ ที่ร่างกายต้องใช้ในการทำงานช่วยผลิตน้ำดีซึ่งจำเป็นต่อการย่อยอาหารประเภทไขมัน ผลิตและควบคุมการทำงานของโคเลสเตอรอล ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ ผลิตสารโปรตีนในเลือดและเอนไซม์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย ควบคุมการทำงานของฮอร์โมน ผลิตสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด กำจัดของเสียหรือสารพิษทุกชนิดที่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อากาศที่หายใจเข้าไป แอลกอฮอล์ สารพิษจากยา ทุกอย่างจะต้องผ่านกระบวนการกรองสารพิษโดยการทำงานของตับ ตับจึงเปรียบเสมือนโรงงานที่ขจัดของเสีย และสารพิษที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ดังนั้น ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ตับ จะด้วยจากสาเหตุใดก็ตามก็จะเกิดผลกระทบต่อหน้าที่ทั้งหมดในร่างกาย
โรคของตับ
โรคที่ทำร้ายตับมีหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยในคนทั่วไปคือ โรคตับแข็ง ซึ่งเป็นภาวะที่ตับได้รับอันตราย จึงพยายามที่จะซ่อมแซมตัวเอง ซึ่งในขบวนการดังกล่าวเนื้อเยื่อที่ตับสร้างขึ้นมาใหม่จะมีลักษณะผิดไปจากเดิม นั่นคือ มีแผลเป็นหรือพังผืดขึ้นมาแทนที่ ทำให้เนื้อตับดูแข็งขึ้น การทำงานของตับจะลดประสิทธิภาพลง ตับแข็งเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่การรักษาที่ถูกต้องและการปฏิบัติตัวดีของผู้ป่วย จะทำให้อาการของโรคโดยรวมดีขึ้น ถ้าไม่รักษาผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติแล้วตับนับเป็นอวัยวะที่พิเศษอย่างหนึ่ง ที่แม้จะสูญเสียเนื้อตับหรือถูกตัดทิ้งไปบางส่วน ส่วนที่เหลือที่เป็นเนื้อตับที่ดีก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่เมื่อไรที่เนื้อตับถูกทำลายไปมากกว่าร้อยละ ๘๐ นั่นหมายถึงภาวะที่เป็นอันตรายจนอาจถึงขั้นตับวาย สาเหตุที่ทำให้ตับแข็งมีหลายประการ ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากๆ เป็นระยะเวลานาน เป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังโดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นโรคตับอักเสบจากภูมิต้านทานทำงานมากเกินไป เป็นโรคท่อน้ำดีอุดตันเรื้อรัง เป็นโรคตับอักเสบที่เกิดจากยาและสารพิษ
ข้อมูล : ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไวรัสตับอักเสบ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อ่าน 18,032 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้