• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โลกไม่สดใส จิตใจหดหู่

โลกไม่สดใส จิตใจหดหู่


จากเหตุการณ์ผู้ป่วยแขวนคอตายในโรงพยาบาลด้วยกางเกง และใส่เสื้อแทนกางเกง เพราะอายกลัวว่าผู้ที่มาพบจะมองแล้วอุจาดตา หลายท่านแม้แต่สื่อต่างๆ พยายามจะโยงเข้าไปกับเรื่องโรคไข้หวัดมรณะ และบางคนก็โยงเข้ากับเรื่อง ๓๐ บาท ทนายสาวได้ถามขึ้นในที่ประชุมประจำเดือนของจังหวัดและแสดงความสนใจต่อปัญหานี้ จากนั้นไม่นานก็มีข่าวแขวนคอตาย อีก ๒ ราย

ปัญหานี้ที่บ้านผมเองก็สนใจมานาน แล้วและรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมที่หลายคนมองข้ามไป จริงๆ แล้วสาเหตุของความตายในคนกลุ่มนี้ คือ โรคซึมเศร้า ซึ่งคนในกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกว่า "โลกไม่สดใส จิตใจหดหู่" ตลอดเวลา ผมจะขอเริ่มที่สถานการณ์อดีตมาถึงปัจจุบันและจะมองไปในอนาคต เพราะมีเหตุแห่งปัจจัยหลาย เหตุที่น่าจะเป็นเหตุส่งเสริมให้เกิดปัญหานี้อีกมากในอนาคต จากนั้นจะเสนอแนะวิธีแก้ไข โดยเฉพาะการป้องกันตนเอง และคนรอบข้างของเรา การจะทำอะไรไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องเข้าใจสาเหตุของโรคและเหตุแห่งปัจจัยก่อน มิฉะนั้นจะกลายเป็นการทำร้ายพวกเขามากยิ่งขึ้น

มาเริ่มที่สถานการณ์

  • ข้อมูลปี ๒๕๔๓ มีคนพยายามฆ่าตัวตาย ๕๒๑ คน ทำสำเร็จ ๔๗ คน
  • ข้อมูลปี ๒๕๔๔ มีคนพยายามฆ่าตัวตาย ๗๖๖ คน ทำสำเร็จ ๗๕ คน

แนวโน้มในอนาคตจะมากขึ้นเรื่อยๆ น่าสังเกตว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงแต่งงานแล้วอายุระหว่าง ๒๐-๒๙ ปี จากการสอบถามปัญหาว่าเพราะเหตุผลใดทำไมผู้ป่วยจึงคิดฆ่าตัวตายอันดับ ๑ คือ การเกิดปัญหาในครอบครัว รองลงมาคือ ทะเลาะกับคนใกล้ชิด จากนั้นไม่ทราบสาเหตุ ส่วนวิธีการผมขอไม่สาธยายนะครับ เพราะเดี๋ยวจะเอาไปใช้คล้ายเป็นการแนะนำ อย่างเรื่องยาเสพติดผมมีโอกาสได้คุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง เขาสาบานกับตนเองว่าจะไม่ให้เจ้าหน้าที่มาบรรยายความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดกับเด็กนักเรียน แต่เขาจะยอมให้มาอธิบายวิธีการป้องกันยาเสพติด เพราะวิทยากรหลายท่านต้องการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด บรรยายเสียละเอียดจนทำให้เด็กอยากลอง อยากเรียนรู้ ซึ่งเป็นผลเสีย ผมเองเลยขอเริ่มทำความเข้าใจ การฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะการที่ไม่พบสาเหตุที่จริงทุกกลุ่มของสาเหตุ คือ โรคซึมเศร้า เป็นโรคพื้นฐานซึ่งทุกคนเป็นโรคอยู่แล้ว เตี่ยผมเคยบอกกับผมว่า สุนัขที่ถูกรถทับขาหลังเดินไม่ได้เขายังใช้วิธีการ คลานไปเพื่อหาอาหาร เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ คนทั่วไปไม่ว่าจะเจ็บป่วยแค่ไหนก็เหมือนกับสุนัขที่ต้องมีชีวิตอยู่ ถ้าใครไม่อยากมีชีวิตอยู่ แสดงว่าป่วยโดยเป็นโรคทางด้านจิตใจแล้ว เตี่ยผมไม่ได้เรียนหนังสือสูง จบ ป.๔ ยังคิดได้แบบนี้เลย ผมขอต่อยอดความรู้ที่เตี่ยผมสอนไว้ เพราะการที่เป็นแพทย์

ภาวะซึมเศร้า (Depression)
เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยทางจิตใจที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีสภาวะอารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่าย หดหู่ ห่อเหี่ยว หมดอารมณ์สนุกเพลิดเพลิน หรือหมดอาลัยตายอยาก จนมีผลกระทบทางพฤติกรรม ทำให้การใช้ชีวิตปกติประจำวันมีปัญหา

  • อาการทางร่างกาย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง นอนไม่หลับ เป็นต้น
  • อาการทางจิตใจ เศร้าหมอง ร้องไห้ง่าย ไม่มีสมาธิ หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ รู้สึกไร้ค่า เป็นต้น

ถ้ามีอาการติดต่อกันมากกว่า ๒ สัปดาห์ติดต่อกัน แสดงว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หลายคนโล่งอก เรายังไม่ถึงขั้นป่วย เพราะว่านานๆ จะเซ็ง หรือเบื่อสักที และเป็นอยู่วัน หรือ ๒ วันก็หาย ผมว่าหลายคนโล่งอก เดี๋ยวผมจะบอกว่าเราควรทำอย่างไร

ในช่วงแรกผมอยากจะบอกว่าเป็นทฤษฎีในหนังสือ ผมขอเสนอวิธีการง่ายๆ ที่เราน่าจะใช้

๑. การสังเกตตนเอง สังเกตจิตใจหดหู่ ตื่นตอนเช้าไม่อยากลืมตาขึ้นมาดูโลกเลย พอสายๆ พบปะผู้คนมากๆ รู้สึกดีขึ้น อะไรที่เคยชอบก็กลายเป็นไม่ชอบ เบื่อไปหมด

๒. การสังเกตคนอื่น ถ้าเพื่อน ญาติ ลูก สามี ภรรยา แยกตัวเองเงียบ ไม่พูด ชอบร้องไห้คนเดียว หมดความสนใจสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจกิจวัตรประจำวันตนเอง

ทั้งตัวเราเองและคนใกล้ชิด ถ้าพบว่าท่าทางจะเป็นปัญหาจิตซึมเศร้า ขอบอกว่าถ้าเป็นเพียงปัญหายังมิใช่เป็นโรค อย่าลืมนะครับ ถ้าถือว่าเป็นโรคต้องมีอาการติดต่อกันอย่างน้อย ๒ สัปดาห์ และเป็นสิ่งที่ขัดขวางการใช้ชีวิตประจำวัน

เราจะเริ่มจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
โลกไม่สดใส จิตใจหดหู่ ผมขอเริ่มเลยนะครับ ทั้งตัวเองและผู้อื่นด้วย

๑. เริ่มที่จัดการการบริโภคอาหาร หาอาหารบำรุงร่างกายให้ดีขึ้น ส่วนใหญ่ร่างกายขาดสารอาหาร ทำให้จิตใจห่อเหี่ยว ท่านอาจจะหาอะไรที่ท่านคิดว่าบำรุงร่างกายเสียหน่อย ผมถ้าเซ็งๆ รู้สึกว่าโลกไม่สดใส จิตใจหดหู่ ผมมักจะชวนเพื่อนๆ เราไปหาอะไรแซบๆ หรืออาหารทะเลอร่อยๆ กินกันหน่อย

๒. ออกกำลังกายให้เหงื่อล้างความไม่สดใสไปให้หมดจากหัวใจของเรา พอรู้สึกว่าไม่สดใส ผมจะคว้าจักรยานแล้วปั่นๆ ออกไปให้เหนื่อยสุดๆ เหงื่อไหลจนเปียกชุ่ม พร้อมกับดื่มน้ำเข้าไปมากๆ และมักจะแวะไปค่ายเพาะกาย (เล่นกล้าม) ไปออกกำลังให้เหงื่อออก ชโลมร่างกายด้วยน้ำมันนวดกล้ามเนื้อ ท่านลองนึกดูเหนื่อยแบบสุดๆ พอกลับบ้าน อาบน้ำ สระผมด้วยแชมพูที่มีกลิ่นหอมสดชื่น ฟอกสบู่ยี่ห้อที่เราชอบ ล้างร่างกายให้สะอาด จากนั้นก็กินอาหารอร่อยๆ เท่านี้ร่างกายก็จะเข้าสู่ปกติที่ดีขึ้นอีก ถ้าท่านติดตามอย่าเชื่อผมนะครับ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า อย่าเชื่อเพราะคนพูดน่าเชื่อถือต้องพิสูจน์ให้เห็นจริง ไม่เชื่อต้องพิสูจน์

๓. กวาดขยะในสมอง เพื่อให้สมองโล่ง และเหมาะในการใช้ประโยชน์ บนโต๊ะมีของวางเต็มไปหมดจึงไม่มีที่ใช้งาน ถ้าเราจัดของให้ดี เราจะมีที่ว่างใช้งาน สมองคนเราก็เหมือนกัน ผมใช้วิธีกวาดขยะในสมองโดยการฝึกสมาธิ นั่งท่าสบายๆ หรือจะนอนก็ได้ ให้ร่างกายอยู่ในท่าที่สบายๆ หลับตานึกคำพูดอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นคำพูดที่ไม่ทำให้เราปรุงแต่งต่อไป มิฉะนั้นจิตใจจะไม่นิ่งสงบ เช่น บางคนบอกว่านึกชื่อแฟนได้ไหม คำตอบคือได้ แต่ไม่ดี นึกยุบหนอ พองหนอ ตามจังหวะการหายใจ หรือพุทโธ หรือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ คลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย กำหนดความรู้สึกอยู่ที่คำพูดและท้องที่ยุบพอง สัก ๑๕ นาที สมองจะโล่ง ความคิดจะถูกจัดให้เป็นระเบียบ เป็นระบบ และสามารถคิดครอบคลุมสิ่งต่างๆ ได้มากมาย

๔. นอนให้พอ อย่านอนดึก ถ้านอนไม่หลับก็ใช้วิธีการนอนสมาธิยิ่งดีเสียอีก ลองปิดไฟแล้วนอนสมาธิ เดี๋ยวก็หลับ พอเช้าท่านจะรู้ว่าท่านจะตื่นด้วยความสดใส ก่อนนอนอย่ากินอาหารมากเกินไป และบางครั้งก็อย่าให้ถึงขั้นหิว อาจจะรองท้องด้วยนมสักกล่องจะทำให้หลับได้สบาย

๕. จัดการกับวิธีการคิด ตั้งคำถาม ๓ คำถาม
- เราคิดอย่างไร อธิบายความคิด ความรู้สึกออกมาให้หมด
- ความคิดนี้มีประโยชน์หรือไม่ ถ้าเราซึมเศร้าคงไม่มีประโยชน์
- มีวิธีการคิดอื่นๆ ที่มีประโยชน์มากกว่านี้หรือไม่มี เราต้องเร่งกำจัดความเศร้าหมองออกจากจิตใจเราให้หมดไปให้เร็วที่สุด

สรุป
โลกไม่สดใส จิตใจหดหู่ เป็นอาการแสดงของสภาวะจิตซึมเศร้า เกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติ ถ้าเป็นมากจนขัดขวางการใช้ชีวิตปกติ ควรให้หมอรักษาโดยยา และเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
สังเกตตนเอง ถ้าตื่นนอนมาโลกไม่สดใส บ่ายๆ ดีขึ้น เบื่อไปหมด
สังเกตคนอื่น เงียบแยกตัวไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ชอบร้องไห้คนเดียว

วิธีการแก้ไขก่อนไปหาจิตแพทย์

๑. กินอาหารให้เหมาะสม ส่วนใหญ่ขาดสารอาหารบางตัว หาอะไรอร่อยๆ กินบ้าง

๒. เอาเหงื่อล้างความเศร้าหมอง

๓. กวาดขยะในสมองด้วยสมาธิ

๔. นอนหลับให้พอเพียง ยิ่งนอนด้วยสมาธิยิ่งดี

๕. จัดการกับความคิดของเราเอง คิดให้ดี ถูกต้อง

สุดท้าย ถ้าไม่ได้ผลจริงๆ อย่าอาย หรือกลัวคนอื่นจะมองในทางไม่ดี คือ ต้องให้จิตแพทย์ หรือแพทย์ทั่วไปให้ยาเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะเราป่วยต้องใช้ยา ฝรั่งเขาปรึกษาจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ โลกควรจะสดใส จิตใจควรจะแช่มชื่น ยิ้มไว้นะครับ

ข้อมูลสื่อ

296-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 296
ธันวาคม 2546
นพ.วิวัฒน์ วิริยกิจจา