• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี


ผู้ป่วยตับอักเสบ ตับแข็ง นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบที่มาพบแพทย์จีนบ่อยครั้งจะวินิจฉัยว่าเกี่ยวข้องกับภาวะร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี
    
* บางรายมาด้วยปัญหาผื่นคันอักเสบเรื้อรังบริเวณขาหนีบ  บริเวณร่มผ้า  หรือการอักเสบของลูกอัณฑะ  อุ้งเชิงกรานอักเสบ  หรือการอักเสบติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์         ทางแพทย์จีนจะวินิจฉัยว่าเกิดจากการร้อนชื้นของเส้นลมปราณตับ
      
ภาวะร้อนชื้น  บ่งบอกถึงการตกค้างของของเสียหรือความชื้นเป็นระยะเวลายาวนาน   แล้วเกิดความร้อนตามมา   ลองมาติดตามดูว่าแพทย์แผนจีนกล่าวถึงเรื่องเหล่านี้อย่างไรบ้าง
 
๑. ภาวะตับ-ถุงน้ำดีร้อนชื้น มีความหมายอย่างไร ?
ภาวะที่มีการสะสมความร้อน-ความชื้นของตับและถุงน้ำดีทำให้ระบบการขับระบายของพลังตับและการขับน้ำดีผิดปกติ  เกิดอาการผิดปกติของตับ (กลไกพลังผิดปกติ)        หรือของถุงน้ำดี (ดีซ่าน) หรือของเส้นลมปราณตับ (ตกขาวมีสีเหลือง กลิ่นเหม็น) หรือเส้นลมปราณถุงน้ำดี (ร้อนสลับหนาว) 
 
๒. อาการทางคลินิกที่สำคัญของภาวะตับ-ถุงน้ำดีร้อนชื้นคืออะไร ?
๑. ปวดแน่นชายโครง
๒. เบื่ออาหาร  คอขม
๓. ปัสสาวะเหลืองเข้ม  ปริมาณน้อย
๔. ตรวจพบลิ้นมีฝ้าเหลืองเหนียว  ชีพจรลื่นเร็ว
 
อาการร่วมอื่นๆ

๑. ร้อนชื้นของตับ: ตัวเหลือง  ตาเหลือง  เบื่ออาหาร  ท้องแน่น  อาเจียน คอขม  ไม่ค่อยถ่ายอุจจาระ  ปัสสาวะเหลืองเข้ม
๒. ร้อนชื้นของถุงน้ำดี: ปวดชายโครงด้านขวาร้าวไปถึงหัวไหล่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ไม่ชอบอาหารประเภทมัน เลี่ยน หรือมีก้อนใต้ชายโครงขวา อุจจาระแข็งแห้ง                มีสีขาวเทา  ปัสสาวะเหลือง  มีอาการไข้ร้อนสลับหนาว
๓. ร้อนชื้นของเส้นลมปราณตับ: มีอาการผิวหนังอักเสบ อับชื้นคันบริเวณขาหนีบ  อวัยวะเพศ ลูกอัณฑะปวดบวมอักเสบ  ตกขาวสีเหลืองมีกลิ่นเหม็น
 
๓. สาเหตุ ของการร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี คืออะไร ?
๑. ได้รับพิษ  หรือความร้อนชื้นจากภายนอก  เกิดการสะสมตัวในร่างกาย (การติดเชื้อไวรัสเข้าสู่ตับ พิษจากสิ่งแวดล้อม) 
๒. กินของหวาน  ของมัน  หรือดื่มเหล้ามากและนานเกินไป จนเกิดความชื้นความร้อนสะสมตัวในตับและถุงน้ำดี  หรือกลายเป็นก้อน (นิ่ว)
๓. ระบบของกระเพาะอาหารและม้ามมีการย่อย ดูดซึมและลำเลียงผิดปกติ  ทำให้ของเสียความชื้นตกค้าง นานเข้าจะกลายเป็นไฟ (ความร้อนชื้น)
 
๔. กลไกการเกิดโรค หรือภาวะร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี  คืออะไร ?
ภาวะร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดีทำให้เกิด

๑. การระบายของตับผิดปกติ
- กลไกพลังติดขัด: ปวดแน่นชายโครง
- พลังน้ำดีขึ้นสู่เบื้องบน: คอขม
- น้ำดีไหลล้นออกนอกเส้นทางปกติ: ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง
- ปัจจัยก่อโรคที่อยู่ในถุงน้ำดี: เกิดอาการไข้ ร้อนสลับหนาว
๒. กระเพาะอาหารและม้ามมีอาการย่อยดูดซึมผิดปกติ กลไกขึ้นลงของพลังแปรปรวน
- ทำให้เบื่ออาหาร ท้องอืด คลื่นไส้ ท้องผูก  
๓. ร้อนชื้นเข้าสู่เส้นลมปราณตับลงสู่ด้านล่าง
- สตรี  มีตกขาวสีเหลือง  กลิ่นเหม็น คันบริเวณอวัยวะเพศ
- ผู้ชาย  มีลูกอัณฑะอักเสบ ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศอักเสบ  มีน้ำเยิ้มคัน
- ปัสสาวะเหลืองเข้ม  ปริมาณน้อย
๔. ลิ้นจะมีสีแดง ฝ้าสีเหลืองเหนียว แสดงว่ามีอาการของภาวะร้อนชื้นสะสมภายใน
 
. การดำเนินของโรค พัฒนาของโรค ถ้ารักษาไม่ถูกต้อง หรือปล่อยให้เนิ่นนาน ?
๑. ภาวะเฉียบพลันจากความร้อนชื้นของตับ  ถ้ารักษาได้ทันเวลาและถูกต้องสามารถหายได้
๒. ถ้าพิษจากปัจจัยร้อนชื้นสูงมาก  พลังพื้นฐานร่างกายอ่อนแอ เสียชี่ (คือสิ่งก่อโรค) จะเข้าสู่ระบบเลือด  ทำให้เกิดภาวะดีซ่าน  ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต  ถ้าเสียชี่                  ยังคงตกค้างในร่างกายการรักษาจะยากยิ่งขึ้น  ทำให้เกิดก้อนหรือท้องมาน
- ความร้อนชื้นของถุงน้ำดี: มักเป็นเรื้อรังไม่ค่อยหายขาด  บางครั้งสามารถเปลี่ยนเป็นพิษร้อน ซึ่งทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิต
- ความร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี  นานวันหรือใช้ยาที่มีความเย็นมากเกินไป  จะเกิดภาวะเย็นชื้นแทนบนความร้อนชื้น  ซึ่งบ่งบอกภาวะรุนแรงของโรคมากขึ้น
 
๖. การแยกแยะภาวะร้อนชื้นของตับถุงน้ำดีต้องแยกแยะจากภาวะอะไรบ้าง ?
๑. ร้อนชื้นของตับ ตำแหน่งโรคอยู่ที่ตับ  มีตัวเหลือง  ตาเหลือง ปวดชายโครง ท้องอืด เบื่ออาหาร  คลื่นไส้  อาเจียน  อุจจาระผิดปกติ
๒. ร้อนชื้นของถุงน้ำดี ตำแหน่งอยู่ที่ถุงน้ำดี  ปวดชายโครงขวารั้งไปที่หัวไหล่ ตัวเหลือง  ตาเหลือง  เบื่ออาหาร  คลื่นไส้  ไม่ชอบอาหารมัน  เลี่ยน
๓. ร้อนชื้นของเส้นลมปราณตับ ตำแหน่งอยู่ที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ผิวหนังอักเสบ  คันบริเวณถุงอัณฑะ ลูกอัณฑะอักเสบ ตกขาวสีเหลืองมีกลิ่นเหม็น
ทั้ง ๓ ภาวะ มีอาการร่วมที่เหมือนกัน  คือปัสสาวะเข้มเหลือง ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว  ชีพจรลื่นและเร็ว
 
๗. หลักการรักษาและตำรับยาที่ใช้ในการรักษาภาวะร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี ?
หลักการรักษา: ขับระบายความร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี
ตำรับยา
๑. ตับร้อนชื้น 
ใช้ตำรับ อิน-เฉิน-ฮาว-ทัง 
มีตัวยาสำคัญ คือ อินเฉิน ซานจือ ต้าหวง 
- อินเฉินอู่หลิงส่าน
มีตัวยาสำคัญ  คือ อินเฉิน  เจ๋อเซี่ย ฝู่หลิง  จูหลิง กุ้ยจือ  ไป๋จู้

๒. ภาวะถุงน้ำดีร้อนชื้น 
ใช้ตำรับยา ต้าไฉหูทัง
มีตัวยาสำคัญ   คือ ไฉหู, ปั่นเซี่ย, หวงฉิน, ต้าหวง, ไป๋สาว, จือสือ, เซิงเจียง, ต้าเจ่า
                                                                                                                                                                                                                                                     
๓. ภาวะร้อนชื้นของเส้นลมปราณตับ 
ใช้ตำรับยา หลงตันเซี่ยกานทัง
มีตัวยาสำคัญ  คือ หลงตั่นเฉ่า, ซานจือ, เซิงตี้, หวงฉิน, ตังกุย, ไฉหู, มู่ทง, เชอเชี่ยนจื่อ, เจ๋อเซี่ย, กันเฉ่า 
 
๘. ภาวะร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี  เมื่อเทียบกับแผนปัจจุบันมีความหมายถึงโรคอย่างไร ?
ภาวะร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี  มีอาการแสดงออก  คือปวดเจ็บชายโครง  ปวดท้อง ดีซ่าน  ท้องมาน  ผิวหนังอักเสบคันบริเวณร่มผ้า  ตกขาวมีสีเหลือง กลิ่นเหม็น ฯลฯ
 
ทัศนะแผนปัจจุบัน 
 
ตับร้อนชื้น: ได้แก่ ตับอักเสบเฉียบพลัน ตับอักเสบเรื้อรัง ไขมันพอกตับ ตับแข็ง  ฯลฯ
ถุงน้ำดีร้อนชื้น: ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน  ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง นิ่วถุงน้ำดี
เส้นลมปราณตับร้อนชื้น: ลูกอัณฑะอักเสบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ช่องคลอด
การติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์  ผิวหนังอักเสบในร่มผ้า ที่อับชื้น

๙. การศึกษาวิจัยสมัยใหม่กับภาวะร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี  มีรายงานที่น่าสนใจอะไรบ้าง ?
๑. เมื่อมีภาวะร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี จะทำให้ร่างกายมีภาวะอักเสบ  ภาวะถูกกระตุ้น เกิดการขาดเลือดอย่างมาก ไขมันถูกเผาผลาญเกิดสารอนุมูลอิสระปล่อยออกมามากผิดปกติ  หลอดเลือดขยายตัว การซึมผ่านหลอดเลือดฝอยมีมากขึ้น (จงอีจ๋าจื่อ 1998, (1); 44)
๒. ความสัมพันธ์ของค่าเอนไซม์ตับ  SGPT (ALT)  กับภาวะร้อนชื้นมีความเกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ จากการตรวจสอบผู้ป่วยที่มีค่า SGPT สูงจำนวน ๓๒๙ ราย  พบว่า ๓๐๔  ราย  มีภาวะร้อนชื้นคิดเป็นร้อยละ ๙๒.๔  ภายหลังการรักษาผู้ป่วยที่มีการอักเสบของตับ พบว่า 
“ถ้าภาวะความร้อนชื้นมากขึ้นเอนไซม์ตับจะสูงขึ้น ถ้าภาวะร้อนชื้นน้อยลงเอนไซม์ตับจะน้อยลง” (ซ่างไห่จงอีเอี้ยวจ๋าจื่อ 1987, (3); 27)
๓. ผลการรักษาผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันด้วยตำรับยา  ต้าไฉหูทัง ในผู้ป่วย ๗๕ ราย  ผลการรักษาได้ผลดี  ๕๖  ราย (ร้อยละ ๗๔.๖) ในจำนวนผู้ป่วยกลุ่มนี้มีนิ่วในถุงน้ำดีรวมอยู่ด้วย ๑๘ ราย  ภายหลังการรักษาเปรียบเทียบผลอัลตราซาวนด์  พบว่าก้อนนิ่วในถุงน้ำดีมีขนาดเล็กลง (ซ่างไห่จงอีเอี้ยวจ๋าจื่อ 1994, (12);20)
๔. ผลการรักษาผู้ป่วยผิวหนังอักเสบที่เกิดจากความร้อนชื้นของเส้นลมปราณตับ ๕๐ ราย  ด้วยตำรายา  หลงตั่นเซี่ยกันทาง ได้ผลดีร้อยละ ๘๘ (จงอีจ๋าจื่อ  1985, (4); 26) 
๕. ผลการรักษาผู้ป่วยลูกอัณฑะอักเสบ ด้วยตำรายา หลงตั่นเซี่ยกันทาง  วินิจฉัยว่าเป็นความร้อนชื้นของเส้นลมปราณตับ จำนวน ๓๖ รายดีขึ้นทุกราย (เฮยหลงเจียงจงอีเอี้ยว 1998, (6); 32)
 
สรุป
ภาวะร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี  มักเกิดขึ้นกับคนที่มีพื้นฐานร่างกายสะสมความร้อนชื้นอย่างต่อเนื่อง มักเกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตและการกินอยู่ เช่น กินของมัน         ของหวาน ดื่มเหล้า  นอนดึกหรือกินอาหารมื้อดึก ฯลฯ ระบบกระเพาะอาหารและม้ามพร่องบางครั้งก็ได้รับพิษหรือเชื้อจากภายนอกร่วมสมทบทำให้เกิดเป็นโรค
ข้อต่างกับแผนปัจจุบัน คือแผนปัจจุบันมักจะวินิจฉัยโรคเมื่อมีอาการ หรือการตรวจพบแล้ว แต่ในทัศนะพทย์แผนจีน คือถือเอาภาวะร้อนชื้นและการทำงานของระบบกระเพาะอาหารและม้ามพร่องเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการก่อให้เกิดปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ การรักษาสมดุล การป้องกันและการขับปัจจัยก่อโรคของร่างกายแต่เนิ่นๆ                       จะป้องกันโรคในกลุ่มนี้ได้  หรือแม้ว่าเป็นโรคเกี่ยวกับระบบนี้แล้ว ก็ยังมีความจำเป็นต้องขับปัจจัยเหล่านี้ในการรักษาโรคควบคู่กับวิธีการอื่นๆ


 

ข้อมูลสื่อ

324-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 324
เมษายน 2549
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล