• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เข็มขัดรัดหลัง : จำเป็นหรือไม่ในคนทำงาน?

เข็มขัดรัดหลัง : จำเป็นหรือไม่ในคนทำงาน?

ผู้เขียนได้ไปบรรยายหลายแห่งทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าคนงาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความปลอดภัยของโรงงาน หลายท่านได้เข้ามาคุยกับผู้เขียนว่า คนทำงานยกขนอยากจะใช้เข็มขัดรัดหลัง (Back belt) ในขณะทำงาน โอกาสผู้เขียนจึงขอเสนอความรู้เกี่ยวกับความจำเป็นในการใช้เข็มขัดรัดหลังในงานยกขน

เข็มขัดรัดหลัง (Back belt) ที่ใช้ในคนทำงานดัดแปลงมาจากเฝือกพยุงเอว (Lumbo sacral Support) ที่ใช้ในทางการแพทย์ มีจุดประสงค์ในการใส่เพื่อประคองหลังในกรณีที่ปวดหลังมาก กระดูกสันหลังเคลื่อนหรือหลังผ่าตัดส่วนหลัง

การใส่มีผลให้บริเวณแผ่นหลังกระชับกระตุ้น การทำงานของเส้นประสาทที่รับความรู้สึกอื่นๆ นอกจากเส้นประสาทรับความเจ็บปวด ทำให้ผู้ใส่มีอาการปวดลดลง และที่สำคัญช่วยทำงานแทนกล้ามเนื้อหลังที่อ่อนแรงลงไปหลังผ่าตัดหรือมีอาการเจ็บมาก และทำให้มีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเร็วขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวที่น้อยลง
เมื่อใส่เฝือกพยุงเอวจะรู้สึกแน่นกระชับที่หลังและสบายเหมือนกับกล้ามเนื้อหลังไม่ได้ทำงาน 

ข้อเสียของการใส่เฝือกพยุงเอวระยะยาว คือ การที่มีกล้ามเนื้อรอบลำตัวทำงานลดลง และผู้ใส่ติดการใช้ไม่สามารถถอดออกได้ เพราะกลัวเจ็บมากขึ้น ในทางการแพทย์จะให้ผู้ป่วยเลิกใส่เฝือก พยุงเอวเร็วที่สุด เพราะมีผลเสียดังกล่าว

เข็มขัดรัดหลังมีมากกว่า ๗๐ ชนิดในท้องตลาด ส่วนใหญ่จะรัดบริเวณหน้าท้องและหลังส่วนล่าง มีความกว้างน้อยกว่าเฝือกพยุงเอว มีทั้งแบบแขวนกับไหล่เพื่อไม่ให้เลื่อนลง บางชนิดมีการเป่าลมเข้า ภายในตัวเข็มขัดเพื่อให้รัดได้กระชับยิ่งขึ้น เข็มขัดรัดหลังเป็นที่นิยมมากในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา คนงานในบางประเทศใส่เหมือนเป็นเครื่องป้องกันเช่นเดียวกับหมวกหรือรองเท้านิรภัยที่ใช้ขณะทำงาน 

มีการศึกษาในหลายประเทศ พบว่า คนงานที่ใส่เข็มขัดรัดหลังไม่ได้มีปัญหาปวดหรือบาดเจ็บของหลังน้อยกว่าคนงานที่ไม่ได้ใส่ ซ้ำยังทำให้การบาดเจ็บรุนแรงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใส่เข็มขัดรัดหลังเสียอีก

ผู้ที่ใช้เข็มขัดรัดหลังเป็นประจำอ้างว่าการใส่เข็มขัดรัดหลังจะช่วยให้มีแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น มีผลทำให้กระดูกสันหลังมีความมั่นคงมากขึ้น และทำให้กล้ามเนื้อลำตัวทำงานลดลง แต่การคำนวณทางชีวกลศาสตร์พบว่าแรงดันในช่องท้องกลับมีผลทำให้แรงกดที่กระดูกสันหลังมากขึ้นและอาจนำไปสู่อาการปวดหลังได้ 

การศึกษาโดยการวัดคลื่นกล้ามเนื้อไฟฟ้า พบว่า การทำงานของกล้ามเนื้อหลัง ขณะยกของแบบใส่และไม่ใส่เข็มขัดรัดหลังไม่แตกต่างกัน ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหลังจะพอๆ กัน

การเคลื่อนไหวของลำตัวของผู้ที่ใส่เข็มขัดรัดหลังจะลดลงในทิศทางด้านข้างและการหมุนตัว แต่การบาดเจ็บของหลังขณะทำงานมักอยู่ในท่าก้มร่วมกับการหมุนตัว เข็มขัดรัดหลังไม่ได้ป้องกันให้ผู้ใส่ก้มตัวเลย 
 
การใส่เข็มขัดรัดหลังมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด 
มีการทดลองใส่เข็มขัดรัดหลังในขณะยกของ นั่ง และทำงานเบา พบว่า การใส่เข็มขัดรัดหลังทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้น การที่ความดันช่องท้องที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณเลือดไหลกลับเข้าหัวใจเร็วขึ้น ทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้น ดังนั้นความดันเลือดที่สูงอยู่แล้วในคนทำงานหนักจะยิ่งสูงขึ้น

ผลระยะยาวของการใส่เข็มขัดรัดหลังเป็นเวลานานๆ ยังไม่มีการพิสูจน์แน่ชัด แต่การที่มีความดันในช่องท้องสูงอยู่นานๆ อาจมีผลทำให้เกิดไส้เลื่อน ริดสีดวงทวาร และมีหลอดเลือดขอดที่ขาและถุงอัณฑะได้ แต่ผลระยะยาวนี้ต้องมีการศึกษาต่อไปในอนาคต

คนทำงานจะรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเมื่อใส่เข็มขัดรัดหลังทำงาน แต่ความมั่นใจนี้มีผลเสีย เพราะคนทำงานจะรู้สึกว่าตัวเองมีความปลอดภัยแล้ว จะยกวัตถุโดยไม่ระมัดระวังเท่ากับช่วงที่ไม่ได้ใส่เข็มขัดรัดหลัง 

มีการศึกษาพบว่า น้ำหนักสูงสุดที่ยกได้ขณะใส่เข็มขัดรัดหลังจะเพิ่มประมาณร้อยละ ๑๙ ซึ่งเป็นน้ำหนักที่เกินความสามารถของผู้ยก สอดคล้องกับสถิติที่พบว่าผู้ที่ใส่เข็มขัดรัดหลัง ถ้ามีอาการบาดเจ็บจากการทำงานจะบาดเจ็บรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ได้ใส่

ข้อแนะนำสำหรับการใส่เข็มขัดรัดหลัง
เข็มขัดรัดหลังมีประโยชน์ในคนทำงานที่ได้รับบาดเจ็บและกำลังฟื้นฟูสภาพกลับเข้าทำงานเดิม การใส่จะมีประโยชน์มากในช่วงแรกของการได้รับการบาดเจ็บ หรือใส่เพื่อลดอาการเจ็บที่เกิดซ้ำ ควรจะใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ ผู้ใส่ต้องได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการยกวัตถุที่ถูกต้องการจัดสภาพการทำงานที่เหมาะสม น้ำหนักวัตถุที่ควรจะยกได้ในขณะนั้น และชีวกลศาสตร์เบื้องต้นของการยกวัตถุ ในคนงานทั่วไปที่ไม่มีประวัติบาดเจ็บไม่จำเป็นต้องใส่เข็มขัดรัดหลัง นอกจากจะสิ้นเปลืองแล้วยังทำให้คนทำงานประมาทไม่ระวังเวลาทำงาน

การที่ผู้ประกอบการคิดว่าการให้คนทำงานใส่เข็มขัดรัดหลังแล้วจะป้องกันอาการปวดหลังที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตนั้น เป็นความคิดที่ผิด เพราะการป้องกันอาการปวดหลังจากการทำงานนั้นต้องอาศัยการปรับปรุงสภาพงานเป็นสำคัญ ตราบใดที่คนทำงานจะต้องยกวัตถุหนักเกินกำลังของตัวเอง ต้องยกวัตถุหนักจากพื้น และต้องบิดตัวขณะยกไม่ว่าจะใส่หรือไม่ใส่เข็มขัดรัดหลังมีโอกาสปวดหลังได้เช่นเดียวกัน

กล้ามเนื้อลำตัวกับการป้องกันอาการปวดหลัง
ร่างกายจะมีกล้ามเนื้อที่เป็นเข็มขัดรัดหลังโดยธรรมชาติอยู่แล้ว กล้ามเนื้อกลุ่มนี้จะอยู่ลึกและเกาะกับกระดูกสันหลัง แรงหดตัวของกล้ามเนื้อกลุ่มนี้เพียงร้อยละ ๒๐ ของแรงหดตัวสูงสุดจะช่วยทำให้กระดูกสันหลังมีความมั่นคงมากขึ้น  ดังนั้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกลุ่มนี้ไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่การทำงานในช่วงที่ควรจะทำ เช่น หดตัวขณะที่กระดูกสันหลังมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในขณะยกวัตถุ พบว่า ในคนที่มีอาการปวดหลังอยู่นานๆ กล้ามเนื้อกลุ่มนี้จะทำงานน้อยมากหรือไม่ทำงานเลยขณะทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ต้องมีการฝึกออกกำลังที่เรียกว่าการออกกำลังเพื่อความมั่นคงของลำตัว (trunk stabilization exercise) จึงจะทำให้กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ทำงานได้ตามปกติ การฝึกออกกำลังแบบนี้ในคนทำงานจะสามารถป้องกันการบาดเจ็บของหลังได้ดี และที่สำคัญไม่ต้องสิ้นเปลือง ซื้อเข็มขัดรัดหลังมาใช้เพราะธรรมชาติให้มาอยู่แล้ว

การออกกำลังกายเพื่อความมั่นคงของลำตัวเป็นการใช้การควบคุมทางกาย (motor control) มีจุดประสงค์เพื่อฝึกให้กล้ามเนื้อทำงานในขณะอยู่นิ่งก่อน  แล้วจึงฝึกในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของแขนขา จนในที่สุดกล้ามเนื้อนี้จะทำงานในขณะทำงาน เช่น การยกวัตถุ ดึง ดัน แบก หาม

อย่าลืมว่าถ้าไม่ปวดหลังก็ไม่ต้องใช้เข็มขัดรัดหลัง จัดสภาพงานให้เหมาะสม อย่าออกแรงเคลื่อนย้ายวัตถุหนักเกินกำลัง เท่านี้ท่านจะปลอดภัยจากการบาดเจ็บของหลัง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาเข็มขัดรัดหลังเลย

ข้อมูลสื่อ

313-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 313
พฤษภาคม 2548
คนกับงาน
ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ