• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พยาบาลของชุมชน

ลูกหลานของคนในชุมชน ที่ได้รับเลือกและให้ทุนไปเรียนพยาบาล เรียนจบกลับมาทำงานที่บ้านเกิด เป็นพยาบาลชุมชน เป็นที่พึ่งของญาติพี่น้อง และเป็นความหวังใหม่ของระบบสุขภาพไทย

พยาบาลขาดแคลน
        การแพทย์และการสาธารณสุขของไทยพัฒนาด้านวิชาการและเทคโนโลยีสู่ระดับนานาชาติ ประกอบกับการปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการและการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้ประชาชนมาใช้บริการในสถานบริการทุกระดับเพิ่มขึ้น สิ่งที่เป็นปัญหาคือการขาดแคลนอัตรากำลังผู้ให้บริการ วิชาชีพที่ขาดแคลนมากที่สุดและกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติคือพยาบาล 
        พยาบาลต้องทำงานหนัก ยิ่งมีอัตรากำลังน้อย คนที่เหลือยิ่งต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น  เมื่อพยาบาลมีน้อย แต่ความต้องการมาก พยาบาลส่วนหนึ่งจึงได้รับการชักชวนให้ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ทำให้โรงพยาบาลชุมชนขาดแคลนมากขึ้น

โครงการแก้วิกฤติ
        โรงพยาบาลชุมชนในภาคอีสาน ๒ แห่ง ซึ่งเป็นภาคที่มีพยาบาลเฉลี่ยต่อประชากรต่ำกว่าทุกภาคของประเทศ ได้ริเริ่มโครงการที่จะสร้างพยาบาลชุมชนเพื่อชุมชน ของชุมชน โดยชุมชน
        การดำเนินงานตั้งต้นจากการระดมสมองประชาคมทั้งระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล  ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ได้ข้อสรุปเรื่องคุณสมบัติและบทบาทหน้าที่ของพยาบาลชุมชน  ระบบการคัดเลือกที่จะได้พยาบาลชุมชนที่ดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะสนับสนุนให้โครงการสำเร็จ

คุณสมบัติและหน้าที่ของพยาบาลชุมชน
        เริ่มต้นเป็นคนดี มีความประพฤติดี ดูแลเอาใจใส่สุขภาพตนเอง มีมนุษย์สัมพันธ์ดี  กล้าคิด กล้าแสดงออก ขยัน อดทน ไม่ติดอบายมุข สุขภาพจิตดี  มีน้ำใจ มีความเมตตากรุณา
        ควรเป็นคนในท้องถิ่น ครอบครัวไม่มีปัญหากับคนในชุมชน และครอบครัวสนับสนุนให้เป็นพยาบาลชุมชน
        มีสายการเรียนชั้นมัธยมตรงตามหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี  สามารถเรียนต่อจนจบหลักสูตรได้

ระบบการคัดเลือก
        มีการขอโควตาพิเศษจากคณะพยาบาลศาสตร์ คัดเลือกกรรมการคัดเลือกที่มีคุณธรรม มีความโปร่งใส เปิดรับสมัครนักเรียนในชุมชนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์
        เมื่อคัดเลือกนักเรียนได้แล้ว จะส่งไปเป็นอาสาสมัครผู้ช่วยเหลือคนไข้ตั้งแต่ชั้น ม.๓ โดยทำงานในวันหยุดเสาร์อาทิตย์และช่วงปิดเทอม ให้เป็นอาสาสมัครปีละ ๒๐-๓๐ วัน รวมเวลา ๓ ปี พร้อมทั้งเรียนรู้วิชานวด วิชาเพาะเลี้ยงปลากินลูกน้ำ วิชาแยกขยะ วิชาเพาะกล้าไม้ วิชาช่วยเหลือคนจน คนแก่ เด็กและคนพิการ แล้วไปทำการบ้านในหมู่บ้านเป็นเวลา ๓ ปี โดยมีทีมพี่เลี้ยงคอยนิเทศติดตาม และให้คนในชุมชนลงความเห็นอีกครั้งก่อนส่งเรียน
        เมื่อเรียนจบ ให้กลับมาทำงานที่ชุมชนของตนเอง โดยทำสัญญากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือกับประชาคม

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
        หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุน ได้แก่ ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โรงพยาบาลชุมชน และคณะพยาบาลศาสตร์
        ชุมชนหาฉันทามติคัดเลือกนักเรียน  ขอรับการสนับสนุนจาก อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) เทศบาล หรือ อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) หรือจัดการระดมทุนจากคนในชุมชน เพื่อเป็นทุนในการส่งเรียนและเป็นเงินเดือนเมื่อทำงาน
        การระดมทุนจากชุมชน  บางแห่งทุกๆ คนในชุมชนจะร่วมบริจาคกล้วยกอละหวีต่อปี 
        และกิ่งไม้ต้นละ ๑๐ กิโลกรัมต่อปี ให้กองทุนพยาบาลชุมชน นำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนและเป็นสวัสดิการแก่พยาบาลชุมชน
        โรงพยาบาลชุมชนจัดระบบการฝึกงาน จัดพยาบาลพี่เลี้ยงให้นักศึกษาพยาบาลชุมชนให้เรียนรู้จนเป็นพยาบาลที่ดี
        คณะพยาบาลศาสตร์ให้โอกาสรับนักเรียนที่ชุมชนคัดเลือกเข้าเรียนโดยระบบโควตาพิเศษ รวมทั้งคอยติดตามและสนับสนุนทั้งด้านความรู้ งบประมาณ และการจัดการ
        นอกจากนั้นพยาบาลชุมชนยังมีงานเยี่ยมคนไข้โรคเรื้อรัง คนพิการ ทำงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และเยี่ยมผู้ที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่สู่เศรษฐกิจพอเพียง

สุขภาวะของชุมชน
        พยาบาลชุมชนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมการทำงาน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นสุข อยู่กับครอบครัว ทำงานกับญาติมิตรทั้งที่บ้านและที่โรงพยาบาล มีรายได้พอเพียงในการดูแลตัวเองและครอบครัว
        พยาบาลสาวน้อยคนนี้ สามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายในการรักษาพยาบาลคนเจ็บไข้ ดูแลกลุ่มเป้าหมาย ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงมีครรภ์ และคนพิการ เป็นสื่อประสานเชื่อมโยงบ้านกับโรงพยาบาล สร้างเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ
        พยาบาลชุมชน คือ พยาบาลของชุมชน ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสุขภาวะของคนในชุมชน
 

ข้อมูลสื่อ

383-046
นิตยสารหมอชาวบ้าน 383
มีนาคม 2554
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์