• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จำปีสิรินธร

                                        
   
"จำปีสิรินธร"
พันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก สำรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ โดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหรือป่าพรุน้ำจืดที่บ้านซับจำปา ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี และที่ป่าพรุน้ำจืด ตำบลน้ำสวย อำเภอเมือง จังหวัดเลย

การค้นพบดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการวิจัยการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพืชในวงศ์ไม้จำปา ซึ่งเป็นโครงการย่อยของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่ง วว. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยเป็นชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่นี้

จำปีสิรินธร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia sirindhorniae Noot. & Chalermglin เป็นจำปีชนิดใหม่ของโลกและเป็นพืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทยที่มีความเก่าแก่ดึกดำบรรพ์มากที่สุดในกลุ่มของพืชชั้นสูงที่เรียกกันว่า "พืชมีดอก" มีลักษณะใกล้เคียงกับบรรพบุรุษเดิมเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว มีโอกาสสูญพันธุ์ได้มากที่สุดในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๒๐-๓๐ เมตร ดอกมีสีขาวนวล มีกลีบดอก ๑๒-๑๕ กลีบ ดอกยาว ๔.๕-๕ เซนติเมตร มีฤดูดอกบานในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม มีผลเป็นช่อยาว ๔-๖ เซนติเมตร

ต้นจำปีสิรินธร จัดอยู่ในประเภทใกล้จะสูญพันธุ์ในสภาพธรรมชาติ เนื่องจากมีถิ่นกำเนิดอยู่เฉพาะในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะขึ้นอยู่ในป่าพรุน้ำจืด ๒ แหล่งที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดเลยก็ตาม แต่ป่าพรุทั้ง ๒ แหล่งก็ถูกคุกคาม น้ำแห้งในช่วงฤดูแล้งและเกิดไฟไหม้ มีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ในแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากการประกาศการค้นพบอย่างเป็นทางการว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในปี พ.ศ.๒๕๔๓ ทาง วว. ได้วิจัยในเรื่องการขยายพันธุ์ การปลูกเลี้ยงบำรุงรักษา การพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด แล้วมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ลงสู่เกษตรกรและผู้สนใจ ปรากฏว่ามีการปลูกจำปีสิรินธรเป็นไม้ประดับ เป็นพรรณไม้มงคลกันไปทั่วประเทศ รวมทั้งในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศจีนและอินโดนีเซีย จัดว่าเป็นการปลูกนอกถิ่นกำเนิดและพบว่าออกดอกได้แล้ว

ดังนั้น จำปีสิรินธรจึงเป็นพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งที่พ้นจากสภาพความหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ และรับรองได้ว่าจะไม่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยหรือจากโลกได้อย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าอาจจะสูญพันธุ์ในสภาพถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติก็ตาม

ปัจจุบัน วว. ประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิด ณ แปลงเพาะชำกล้าไม้ วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี ซึ่งในขณะนี้จำปีสิรินธร ได้ออกดอกบานนอกถิ่นกำเนิดและนอกฤดูกาล นับเป็นความสำเร็จและน่าชื่นชมยินดียิ่ง

 

 

ข้อมูลสื่อ

373-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 373
พฤษภาคม 2553
ต้นไม้ใบหญ้า